ลิ้งค์เชื่อมต่อ

คนไทยในสหรัฐฯ ถึง ‘แพทองธาร’ ฝากแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-สร้างความหวัง


เสียงของชาวไทยในสหรัฐฯ ต่อการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย มีทั้งความหวังถึงประเทศไทยที่ดีขึ้น และความกังวลในแง่ประสบการณ์ รวมถึงนโยบายที่จะออกมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังรุมเร้า

แม้ว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเศรษฐา ทวีสิน จะพ้นไปด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อกลางเดือนสิงหาคม แต่อำนาจทางการเมืองยังคงไม่หลุดลอยไปจากพรรคเพื่อไทย หลังการขึ้นมาของแพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวคนสุดท้องของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร

ในโมงยามที่เมืองไทยกำลังฟอร์มรัฐบาล เสียงของชาวไทยในรัฐแคลิฟอร์เนีย มองเรื่องนี้ต่างมุมออกไป

ณัฐภัทร โสภณศิรินันท์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ปี 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินทางมาที่สหรัฐฯ ในฐานะนักท่องเที่ยว มองว่าการคัดเลือกนายกฯ ในลักษณะนี้อาจไม่ได้สะท้อนเสียงของประชาชนมากนัก ส่วนสิ่งที่กังวลสำหรับประเทศไทยในตอนนี้คือปัญหาเศรษฐกิจ

ณัฐภัทร โสภณศิรินันท์
ณัฐภัทร โสภณศิรินันท์

“ถ้าความเป็นห่วงก็เรื่องเศรษฐกิจของประเทศตอนนี้ เพราะหลายๆเรื่องก็ยังไม่ค่อยแน่นอน เศรษฐกิจก็เหมือนผันผวนมาก หลังจากกลับมาจากโควิดผมว่ามันก็ดีขึ้นแค่ช่วงหนึ่ง การท่องเที่ยวก็ดีขึ้นจริง แต่ว่าประชาชนก็ไม่ได้ดีขึ้นมากขนาดนั้น” ณัฐภัทรกล่าว

การขึ้นสู่ตำแหน่งของนายกฯ หญิงคนที่สองของประเทศไทย และคนที่สี่จากตระกูลชินวัตร เกิดขึ้นหลังพรรคร่วมรัฐบาลชุดเศรษฐาประกาศสนับสนุนเธอจนได้รับการรับรองเกินกึ่งหนึ่งในรัฐสภา เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นไม่นานนักหลังมีกระแสข่าวว่าพรรคเพื่อไทยจะส่งชัยเกษม นิติศิริ แคนดิเดตนายกฯ อีกคนของพรรคลงชิงตำแหน่ง

ในภาพใหญ่ไปกว่านั้น การขึ้นสู่ตำแหน่งเกิดขึ้นหลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลและถอดถอนนายกฯ เศรษฐา สร้างความวิตกกังวลทั้งจากผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งและประชาคมนานาชาติในเรื่องบทบาทขององค์กรอิสระ และความถดถอยของระบอบประชาธิปไตยในระบบผู้แทน

อีกหนึ่งความเห็นของชาวไทยมาจากมนักษร เมฆฉาย อายุ 35 ปี ที่ปัจจุบันเป็นนักดับเพลิงที่สถานีดับเพลิง Arrowbear Lake รัฐแคลิฟอร์เนีย แม้จะจากไทยมาแล้วเก้าปี แต่ยังกลับไปเยี่ยมบ้านเป็นครั้งคราว และตกใจกับค่าครองชีพที่แพงขึ้น

มนักษร เมฆฉาย
มนักษร เมฆฉาย

เธอฝากความหวังไปยังนายกฯ ที่เป็นผู้หญิงรุ่นใหม่ ให้ใช้โอกาสที่มีในการพัฒนาประเทศให้ประชาชนทุกกลุ่มได้ประโยชน์

“อยากให้เขาพัฒนาทั้งประเทศพัฒนาทุกกลุ่มทุกชนชั้น ไม่ได้แค่พัฒนากลุ่มนี้คนรวยรายได้เยอะ ฉันสบาย ฉันก็ช่วยแค่คนกลุ่มนี้ อยากให้เขาช่วยทุกคนนะคะ อยากให้เค้าช่วยประชาชนทุกคนในประเทศ ไม่ได้แค่ช่วยคนที่มีอาชีพแบบนี้ กลุ่มนี้ นับถือแบบนี้ ชอบแบบนี้ อยากให้เวลาช่วย ช่วยทุกคนเท่าเทียมกัน” มนักษรกล่าว

ดัชนีผู้บริโภคของไทย หนึ่งในตัวชี้วัดราคาค่าครองชีพประจำเดือนกรกฎาคม 2567 อยู่ที่ 108.71 ถือว่าสูงขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว 0.83 ในขณะที่อัตราความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ประจำเดือนมิถุนายน 2567 ปรับตัวลงเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในแดน “เชื่อมั่น” ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 19 โดยข้อกังวลหลักที่มีต่อความเชื่อมั่นคือปัจจัยด้านเศรษฐกิจในประเทศ อ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์

ปราบดา คงเจริญวงศ์ ครูอาสาที่วัดไทยในนครลอสแอนเจลิส วัย 24 ปี เป็นห่วงเรื่องประสบการณ์การบริหารประเทศที่น้อยของนายกฯ คนใหม่ อยากให้ผู้นำของไทยไม่ละทิ้งนโยบายด้านการศึกษาซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการพาประเทศไปข้างหน้า และกังวลเรื่องความต่อเนื่องทางการเมืองว่าจะมีผลต่อการพัฒนาประเทศ

ปราบดา คงเจริญวงศ์
ปราบดา คงเจริญวงศ์

“จริงๆ เราก็เพิ่งเลือกนายกไปเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาแล้วก็ตอนนี้นายกถูกเปลี่ยนอีกแล้ว ซึ่งแผนงานบริหารงานต่างๆมันก็หยุดชะงักไปบ้าง มันเลยทำให้ไม่ต่อเนื่อง เลยรู้สึกว่ามันก็มีความเป็นห่วงเล็กๆ ว่าบ้านเมืองมันจะไปยังไง เพราะว่าประเทศเราก็ยังอยู่ในช่วงกำลังพัฒนา เราแค่อยากได้ยินว่าประเทศเราพัฒนา” ปราบดากล่าว

ชินกฤต สุนทรวรรณ อายุ 31 ปี อาชีพผู้สร้างคอนเทนต์ เป็นอีกเสียงที่พูดถึงปัญหาเศรษฐกิจ ที่เพื่อนฝูงในไทยหลายคนได้รับผลกระทบในฐานะเจ้าของธุรกิจ

ชินกฤต สุนทรวรรณ
ชินกฤต สุนทรวรรณ

เขายินดีกับแพทองธารที่ได้เป็นนายกฯ อยากให้เธอสร้างผลงานและประโยชน์ให้ประชาชน ทำให้ไทยเป็นประเทศที่คนรุ่นลูกรุ่นหลานจะสามารถใช้ชีวิตและมีความหวังได้

“ยินดีที่เขาได้เป็นนายกฯ และอยากให้ประชาชนมีความหวังและได้เกิดผลจริง ๆ ไม่ว่าเขาจะทำอะไร คนจะพูดอย่างไร ถ้าผลกระทบมันออกมาแล้วมันออกมาโอเคจริงๆ ผมก็ว่ามันก็เป็นเรื่องดีเสมอ แค่ที่ผ่านมาในประวัติของการเมืองไทยมันไม่ได้เป็นอย่างที่ประชาชนคาดหวัง คาดหวังว่าอย่างนี้ แต่ออกเป็นอย่างนี้ มันก็ไม่ได้เป็นผลดี” ชินกฤตกล่าว

เสียงของชาวไทยในสหรัฐฯ ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด มีจำนวน 15,190 คน คิดเป็น 13% ของผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงนอกราชอาณาจักรทั้งหมดที่ 115,139 คน และจำนวนผู้ใช้สิทธิในสหรัฐฯ มีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เล็กน้อย

ข้อมูลจากหน่วยงานสำมะโนประชากรสหรัฐฯ ปี 2563 ระบุว่ามีจำนวนบุคคลที่มีเชื้อสายไทย อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ประมาณ 330,000 คน ซึ่งหมายรวมทั้งบุคคลที่มีสัญชาติไทย และที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG