ลิ้งค์เชื่อมต่อ

“อยู่ต่อ – ลังเล – อยากกลับ” เปิดใจคนไทยในอิสราเอล ท่ามกลางการสู้รบ


ปฐวี ไพรธารทอง แรงงานภาคการเกษตร ในหมู่บ้านการเกษตรอีมูนิม ทางตอนใต้ของอิสราเอล
ปฐวี ไพรธารทอง แรงงานภาคการเกษตร ในหมู่บ้านการเกษตรอีมูนิม ทางตอนใต้ของอิสราเอล

วีโอเอไทยพูดคุยกับสามคนไทยในอิสราเอล หลังอิสราเอลเข้าสู่ภาวะสงครามกับกลุ่มฮามาสเป็นเวลากว่า 7 เดือนนับตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา และยังเผชิญความตึงเครียดอีกด้านจากทางฝั่งอิหร่าน หลังกองทัพอิหร่านเปิดฉากโจมตีอิสราเอลโดยตรงครั้งแรก ด้วยการยิงหัวรบโจมตีใส่อิสราเอลอีกกว่า 300 ครั้งเมื่อวันที่ 13 เมษายน

จนถึงขณะนี้ มีคนไทยเสียชีวิตจากเหตุความขัดแย้งครั้งนี้ 41 คน ถือเป็นยอดผู้เสียชีวิตชาวต่างชาติที่สูงที่สุดรองจากฝรั่งเศส


สถานการณ์ตึงเครียดที่สุดในภูมิภาคในรอบหลายสิบปีนี้ ส่งผลต่อความรู้สึกมั่นคงในการใช้ชีวิตของคนไทยในอิสราเอลในระดับที่ต่างกัน บ้างก็รู้สึก “รับได้” กับความขัดแย้ง และต้องการอยู่อิสราเอลต่อเพื่อคุณภาพชีวิตในระยะยาว บ้างก็ยอมรับว่าความขัดแย้งครั้งนี้ทำให้รู้สึก “ลังเล” ที่จะอยู่ต่อ บ้างก็มุ่งมั่นว่า จะกลับไทยแน่นอนหลังทำงานเก็บเงินได้ตามเป้าหมายแล้ว

ประเทศนี้เขาเป็นประเทศสงครามอยู่แล้ว ไม่ได้รู้สึกต่างจากเมื่อก่อน ไม่ได้มีผลกระทบส่วนตัวเลย”

บัว สิงห์คำ ล่ามบริษัทจัดหาแรงงานไทยในอิสราเอล วัย 42 ปี กล่าวกับวีโอเอไทยถึงความรู้สึกของต่อสถานการณ์ หลังเธออาศัยอยู่ที่อิสราเอลพร้อมสามีและลูก ๆ ทั้งสามคนเข้าสู่ปีที่ 10 โดยทั้งครอบครัวของเธอย้ายมาจากไทยมาอาศัยอยู่บริเวณทางตอนเหนือของอิสราเอล ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุขัดแย้งระลอกนี้

“ไม่ใช่สามีบัวนะคะที่เป็นคนตัดสินใจมาอยู่...เขาไม่ได้อยากกลับมาเพราะชอบประเทศไทยมาก ๆ และอยู่ประเทศไทยนานแล้ว” บัวกล่าว

“เป็นตัวบัวเองที่ศึกษามาสักระยะแล้วว่าอิสราเอลเขามีดีเรื่องของอะไรบ้าง...บัวมองว่ามันเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับบัว เช่น เรื่องสิทธิประโยชน์และความเท่าเทียมต่าง ๆ...ถึงตอนนี้ก็ยังยืนยันความคิดเดิม”

บัว สิงห์คำ ล่ามชาวไทยในอิสราเอล (ซ้ายสุด) ขณะกำลังอบรมแรงงานไทยในอิสราเอล
บัว สิงห์คำ ล่ามชาวไทยในอิสราเอล (ซ้ายสุด) ขณะกำลังอบรมแรงงานไทยในอิสราเอล

บัวและครอบครัวกลับไทยเมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและฮามาส และสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ มีนโยบายอำนวยความสะดวกให้คนไทยในอิสราเอลเดินทางกลับไทยโดยเร็วที่สุดในขณะนั้น ก่อนที่แม่สามีของบัวจะเดินทางไปรับลูก ๆ กลับมาเรียนที่อิสราเอลในเดือนถัดมา ส่วนบัวอยู่ทำงานออนไลน์ต่อที่ไทย ต่อจากนั้น เธอเดินทางกลับมาอยู่กับครอบครัวและทำงานล่ามในพื้นที่ที่อิสราเอลในเดือนกุมภาพันธ์

แม้เธอจะยอมรับว่ารู้สึก “ตกใจกลัว” ต่อการเปิดฉากโจมตีอิสราเอลของฮามาสเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม และการสูญเสียประชาชนรวมถึงแรงงานไทย รวมถึงรู้สึกตั้งข้อกังขาต่อความสามารถของรัฐบาลและหน่วยข่าวกรองในการรับมือสถานการณ์ แต่เมื่อความขัดแย้งดำเนินต่อไปจนถึงเมื่อครั้งที่อิหร่านโจมตีอิสราเอลเมื่อเดือนที่ผ่านมา บัวกลับ “ไม่กลัว” สถานการณ์ในประเทศอีกต่อไป และเห็นว่ารัฐบาลมีการเตรียมความพร้อมให้ประชาชนมากกว่าเดิม รวมถึงมีการแจ้งเตือนล่วงหน้า

“ถามว่าประเทศนี้เลี่ยง (สงคราม) ได้ไหม เลี่ยงไม่ได้เลยค่ะ ฉะนั้นเราจะอยู่อย่างไรไม่ให้ฝืนใจอยู่หรือจำเป็นต้องอยู่ หรือไม่ใช่ว่าอยู่เพื่ออนาคตของลูกเท่านั้น” บัวกล่าว

“สำหรับบัวมองว่า บัวได้อะไรหลายอย่างจากประเทศนี้ สวัสดิการ หน้าที่การงาน ความเท่าเทียมทางการศึกษา...มองแบบยาว ๆ เลย ถามว่าอยู่ประเทศไหนคุ้มกว่า ไม่ใช่ว่าเราไม่รักประเทศบ้านเกิด แต่เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว บัวมองว่าอยู่ที่นี่คุ้มกว่า” เธอกล่าวทิ้งท้าย พร้อมเน้นว่า หลังจากเธอกลับอิสราเอลครั้งนี้ “งานเข้า” ยิ่งกว่าเดิม เพราะต้องลงพื้นที่เป็นล่ามและแก้ไขปัญหาให้กับแรงงานไทยมากขึ้น

ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เผยว่า มีแรงงานไทยในอิสราเอลจำนวน 29,900 คน โดยส่วนใหญ่ไปทำงานในภาคการเกษตร โดยมีแรงงานเดินทางกลับไทย 9,697 คน ยังอยู่ในอิสราเอล 20,203 คน

“ลงรากปักฐานที่อิสราเอลแล้ว ยากที่จะถอน แต่ถ้ามันจำเป็นจะต้องถอนก็ต้องถอน”

“จอย” (นามสมมติ) แม่บ้านและล่ามชาวไทย อยู่ที่อิสราเอลมาแล้ว 13 ปีพร้อมสามีและลูกสองคน พวกเขาอาศัยในบริเวณที่ราบสูงโกลัน บริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของอิสราเอล

จอยและลูก ๆ เดินทางกลับไทยเมื่อความขัดแย้งปะทุขึ้นเมื่อต้นเดือนตุลาคม โดยสามีของเธออยู่ดูแลบ้านที่อิสราเอล ในช่วงเวลาดังกล่าว จอยยอมรับว่าเธอรู้สึก “50/50” ว่าจะเลือกอาศัยอยู่ที่ไทยต่อไปหรือจะกลับมาที่อิสราเอล ก่อนตัดสินใจเดินทางกลับอิสราเอลอีกครั้งในช่วงปลายเดือนธันวาคม หลังโรงเรียนของลูก ๆ กลับมาเปิดอีกครั้ง

จอยเผยว่า ยังคงใช้ชีวิตได้ตามปกติในบริเวณที่เธออาศัยอยู่ที่อิสราเอล แต่ก็ยอมรับว่าความขัดแย้งของอิสราเอลทั้งต่อกลุ่มฮามาสและอิหร่าน ส่งผลต่อการตัดสินใจของเธอในการอยู่อิสราเอลระยะยาว รวมถึงความกังวลต่ออนาคตของลูก ๆ ที่จะต้องเกณฑ์ทหารเมื่อมีอายุครบ 18 ปี ตามกฎหมายของอิสราเอล

“ไม่ใช่ว่าสถานการณ์รุนแรงเกิดขึ้นครั้งหนึ่งแล้วจะทำให้ตัดสินใจได้เลย ส่วนตัวคือจะดูว่ารัฐบาลเดินหน้าไปทางไหน เพราะว่านโยบายหลาย ๆ อย่างก็ไม่เห็นด้วย ใช้ความรุนแรงโต้ตอบกลับ ไม่จบสงครามสักที ก็รู้สึกอึดอัดเหมือนกัน” จอยกล่าว “ถ้าหากว่าการเลือกตั้งครั้งหน้า เปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนเป็นฝ่ายที่สนับสนุนสันติภาพมากขึ้น อันนี้ก็จะรู้สึกสบายใจกว่าที่จะได้อยู่ในประเทศนี้”

ภาพถ่ายทางโดรนของกาจาร์ หมู่บ้านบนพรมแดนเลบานอน - อิสราเอล ในพื้นที่ราบสูงโกลัน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอิสราเอล
ภาพถ่ายทางโดรนของกาจาร์ หมู่บ้านบนพรมแดนเลบานอน - อิสราเอล ในพื้นที่ราบสูงโกลัน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอิสราเอล

ตลอดช่วงเวลาที่เธออาศัยอยู่ที่อิสราเอล จอยเผชิญกับเหตุความรุนแรงในประเทศ เช่น เหตุความขัดแย้งกับฮามาส เหตุระเบิดฆ่าตัวตาย ที่ทำให้เธอต้องระวังตัวในการใช้ชีวิตมากขึ้นเป็นระลอก ๆ ราวทุก 10 ปี แต่เมื่อพิจารณาถึงการใช้ชีวิตโดยรวม โดยเฉพาะในด้านการศึกษาของลูก ๆ แล้ว เธอก็ต้องการที่จะใช้ชีวิตในอิสราเอลต่อไป

“(อิสราเอล) เป็นประเทศเล็กมาก เล็กกว่าประเทศไทยมากเลย แต่ว่าความเหลื่อมล้ำทางความเป็นอยู่ การเข้าถึงเทคโนโลยี การเข้าถึงการศึกษามันมีน้อยกว่า...เมื่อเทียบกับอยู่ในไทยแล้ว เราจะต้องอยู่ในกรุงเทพฯ เพื่อให้เข้าถึงสิ่งเหล่านี้” จอยกล่าว

“ถ้าสถานการณ์ดีขึ้น แล้วรัฐบาลปรับเปลี่ยนนโยบายหันไปหาสันติภาพมากขึ้น ก็น่าอยู่นะคะ ก็คงอยู่ต่อไป เพราะว่าพอเราลงรากปักฐานไว้ที่ไหนแล้ว มันก็ยากที่จะถอน แต่ถ้ามันจำเป็นจะต้องถอนก็ต้องถอน”

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ประกาศว่า จะไม่ยุติสงครามจนกว่าจะสามารถถอนรากถอนโคนกลุ่มฮามาสทั้งหมดในเมืองราฟาห์ ซึ่งเป็นเมืองของปาเลสไตน์ และตั้งอยู่ทางตอนใต้ของฉนวนกาซ่า


“พอสงครามเกิดขึ้น ความคิดเปลี่ยนเลย ไม่อยู่จนครบสัญญาจ้างห้าปีแน่นอน”

ปฐวี ไพรธารทอง แรงงานภาคการเกษตรวัย 29 ปี และยูทูบเบอร์ช่อง Do Bung ทำงานที่อิสราเอลมาแล้วสองปี โดยเขาทำงานและอาศัยที่หมู่บ้านการเกษตรอีมูนิม ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเทลอาวีฟ ทางตอนใต้ของอิสราเอล ราว 40 นาที

เมื่อความขัดแย้งปะทุขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคม ปฐวีตัดสินใจเลือก “สวนทาง” กับแรงงานไทยส่วนใหญ่ ด้วยการเลือกที่จะอยู่อิสราเอลต่อไปและไม่กลับไทย เพราะเห็นว่ายังไม่มีการบุกรุกถึงหมู่บ้านที่เขาอาศัย และหากเกิดเหตุฉุกเฉินใด ๆ ขึ้น ยังมีช่องทางที่สามารถเดินทางไปสนามบินได้อย่างรวดเร็ว


ปฐวีตัดสินใจมาเป็นแรงงานที่อิสราเอลผ่านโครงการของรัฐบาลไทยด้วยเหตุผลเรื่องรายได้ ที่สูงกว่าเมื่อครั้งที่เขาอยู่ไทย 3-5 เท่า และแม้เขาจะยังคงทำงานที่อิสราเอลต่อ “หากสถานการณ์ยังอยู่ในระดับนี้” แต่ปฐวียอมรับว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ส่งผลต่อการตัดสินใจของเขา

ปฐวี ไพรธารทอง แรงงานภาคการเกษตร ในหมู่บ้านการเกษตรอีมูนิม ทางตอนใต้ของอิสราเอล
ปฐวี ไพรธารทอง แรงงานภาคการเกษตร ในหมู่บ้านการเกษตรอีมูนิม ทางตอนใต้ของอิสราเอล

“ผมอยู่ที่อิสราเอลได้สูงสุดนาน 5 ปี แต่พอมีเหตุการณ์ที่ผ่านมา ก็ไม่เอาถึง 5 ปีแล้ว เอาแค่ถึงเป้าหมายที่เราได้ สมมติเราอยากได้เงินสัก 1-2 ล้าน (บาท) ถ้าได้ครบเราก็จะกลับ คงไม่อยู่ยาวแล้ว อาจไปประเทศอื่นหรืออาจไปธุรกิจส่วนตัวที่ไทย” เขากล่าวกับวีโอเอไทย “ความคิดมันเปลี่ยนไปเลย พอมีสงครามเกิดขึ้น”

เขาเล่าต่อว่า แม้บริเวณที่เขาอยู่จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่การได้ยินเสียงเครื่องบินรบบ่อยขึ้นในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา รวมถึงการเห็นสะเก็ดระเบิดหล่นลงบนพื้นจนเขาต้องหลบขณะทำงาน ส่งผลความรู้สึกมั่นคงทางจิตใจของเขาไม่น้อย

“คนอิสราเอลเขาใช้ชีวิตปกติ เหมือนเขาเกิดมากับเรื่องแบบนี้ แต่เราเป็นคนไทย เราไม่เคยเจอระเบิดมาก่อน ความรู้สึกก็เลยไม่เหมือนกับเขา” ปฐวีเผย “เราก็ได้แต่ภาวนาว่า อย่าให้ (สะเก็ด) มันเป็นชิ้นใหญ่ ร่วงทะลุหลังคามาเจอเรา”

“ผมคาดหวังอยากให้มันจบสงบแหละ แต่ในความเป็นจริง มันจบครั้งนี้เดี๋ยวก็มีครั้งใหม่...วนไปวนมา มันจะหาความสงบแบบ 100% มันเป็นไปไม่ได้หรอก” เขากล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ ประกาศเตือนเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ขอให้คนไทยในอิสราเอล โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ทางตอนเหนือติดชายแดนเลบานอนและทางตอนใต้ติดฉนวนกาซ่า ให้ติดตามข่าวสารและปฏิบัติตามข้อแนะนำด้านความปลอดภัยของทางการท้องถิ่นอย่างเคร่งครัด และหากอยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือรู้สึกไม่ปลอดภัย สามารถขอรับความช่วยเหลือเพื่อย้ายออกจากพื้นที่ได้จากสถานเอกอัครราชทูตไทย ที่หมายเลข +972 546368150 และ +972 503673195




กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG