ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ไทยรัวกลองเร่งดึงต่างชาติลงทุนโครงการ 'แลนด์บริดจ์'


รัฐบาลไทยกำลังพยายามเร่งดึงดูดต่างชาติเข้ามาลงทุนในโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย-อันดามัน หรือ โครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งเชื่อว่านอกจากจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วยังจะทำให้ไทยมีความสำคัญยิ่งขึ้นในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ในฐานะทางเลือกของการขนส่งสินค้าจากมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังมหาสมุทรอินเดียโดยไม่ต้องผ่านสิงคโปร์และช่องแคบมะละกา

อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์หลายคนยังคงตั้งคำถามต่อโครงการมูลค่า 28,000 ล้านดอลลาร์นี้ ในขณะที่จีนซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนได้เสียรายใหญ่ก็ยังคงไม่แสดงความเห็นใด ๆ อย่างเป็นทางการ

ผศ.ดร.สมพงษ์ พุทธิวิสุทธิศักดิ์ แห่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า "จีนคือนักวางยุทธศาสตร์ ซึ่งจะไม่แสดงจุดยืนออกมาง่าย ๆ จนกว่าจะรู้ว่ามีนักลงทุนรายใดบ้าง"

ผศ.ดร.สมพงษ์ ระบุกับวีโอเอด้วยว่า มีสองเหตุผลที่จีนต้องการลงทุนในโครงการนี้ "หนึ่งคือ ผลประโยชน์ทางการเงิน สองคือภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งหากมองในด้านการเงินจะพบว่าโครงการนี้ไม่คุ้มค่าการลงทุน แต่ในทางภูมิรัฐศาสตร์แล้ว จีนอาจสนใจเพราะจะสามารถมีอิทธิพลควบคุมทั้งสองฝั่งของทะเลได้"

เมื่อเดือนที่แล้ว เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย เสนอโครงการแลนด์บริดจ์ต่อนักลงทุนสหรัฐฯ ระหว่างร่วมประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ที่นครซานฟรานซิสโก โดยกล่าวว่า โครงการแลนด์บริดจ์จะย่นระยะทางการขนส่งโดยเฉลี่ย 4 วัน ลดต้นทุนการขนส่งได้ 15% และสามารถนำส่งสินค้าได้อย่างไร้รอยต่อ ในขณะที่ปริมาณการใช้น่านน้ำบนช่องแคบมะละกานั้น มีการคาดการณ์ว่าจะเกินกว่าที่ศักยภาพจะรองรับได้ในปี 2030

โครงการดังกล่าวจะใช้เงินราว 1 ล้านล้านบาท เพื่อสร้างท่าเรือขึ้นที่สองฝั่งของพื้นที่ภาคใต้ของไทย แล้วใช้ระบบรางและถนนเชื่อมต่อสองท่าเรือที่อยู่ห่างกันราว 100 กม. เข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นแนวทางที่นำมาเสนอแทนที่โครงการคลองไทย หรือที่รู้จักกันในชื่อ “คอคอดกระ”

ก่อนหน้านี้ สื่อบางกอกโพสต์ และด็อยท์เชอเว็ลเลอ รายงานเกี่ยวกับความสนใจลงทุนจากเยอรมนี ขณะที่นายกฯ เศรษฐา ก็กล่าวว่ามีความสนใจจากญี่ปุ่นเช่นกัน ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เปิดเผยว่า มีบริษัทอเมริกันมากกว่า 10 แห่งที่แสดงความสนใจ รวมทั้งบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่อย่าง แอมะซอน (Amazon)

ด้านนายเติมศักดิ์ เฉลิมพลานุภาพ นักวิชาการรับเชิญและผู้ประสานงานที่โครงการไทยศึกษา สถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษา ยูซุฟ อิสฮัค (ISEAS Yusof-Ishak Institute) ในสิงคโปร์ ชี้ว่า "หากจีนลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ จีนจะเข้ามามีอิทธิพลทางเศรษฐกิจมากขึ้นทางภาคใต้ของไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการแข่งขันกับสหรัฐฯ (ในภูมิภาคนี้) "

อย่างไรก็ตาม ผู้ต่อต้านโครงการนี้ในไทยแย้งว่า แลนด์บริดจ์มีค่าใช้จ่ายสูงเกินไปและไม่น่าจะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากจีนซึ่งต้องการให้เกิดโครงการคอคอดกระมากกว่า

นายสมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนระดับชาติ กล่าวกับวีโอเอว่า "โครงการนี้เป็นเพียงการขายฝันอีกโครงการหนึ่ง" และว่า จีนไม่ได้สนใจในโครงการแลนด์บริดจ์เนื่องจากใช้ต้นทุนสูงและใช้เวลามากเกินไป แต่จีนอยากให้เกิดการขุดคลองเชื่อมอ่าวไทยกับอันดามันมากกว่า เพราะจะทำให้จีนมีอำนาจควบคุมพื้นที่แถบนี้มากกว่า

สมบูรณ์ระบุด้วยว่า หากไทยเร่งเดินหน้าเร่ขายโครงการแลนด์บริดจ์มากไป ในที่สุดแล้วไทยอาจสะดุดขาตัวเองล้มลงได้ เพราะอาจไม่ได้รับความสนใจจากทั้งจีนและสหรัฐฯ เลย

  • ที่มา: วีโอเอ

XS
SM
MD
LG