การ “เดินธุดงค์เพื่อสันติภาพ” ของพระสุธรรม ฐิตธัมโม หรือพระสุธรรม นทีทอง พระสงฆ์ชาวไทย ไม่เพียงแต่จะสร้างความปลื้มปีติให้กับพุทธศาสนิกชนชาวไทยและชาวลาวที่อาศัยอยู่ในอเมริกาเท่านั้น การเดินเท้าผ่าน 11 รัฐ ตั้งแต่เดือนมีนาคมยังเปิดโอกาสให้ชาวอเมริกันได้ใกล้ชิด สนทนาแลกเปลี่ยนกับพระสงฆ์ไทยรูปนี้อย่างใกล้ชิดอีกด้วย
ชาวอเมริกันในเมือง Lexington เมืองเล็กๆ ในรัฐอิลลินอย ใจกลางอเมริกา เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่มีโอกาสต้อนรับพระสุธรรม ระหว่างการเดินธุดงค์บนถนนสาย 66 หรือ Route 66 อันเป็นทางหลวงที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของอเมริกา เชื่อมระหว่างเมืองชิคาโก้และซานตาโมนิก้า
คาเรน วิงโก้ (Karen Wingo) เจ้าของร้านขายของที่ระลึกบน Route 66 เล่าให้วีโอเอไทยฟังว่า ทันทีที่เธอรู้ว่าจะมีพระสงฆ์เดินผ่านเมือง Lexington เธอรู้สึกตื่นเต้นมาก
คาเรนบอกว่าเธอรีบปิดร้านออกไปหาพระสุธรรม เพราะเธอไม่เคยพบพระสงฆ์มาก่อน เธอยังรู้สึกทึ่งที่พระสุธรรมเดินธุดงค์มาเกือบ 3,000 กิโลเมตร เมื่อพบปะกันกลางทาง คาเรนก็ได้ขออนุญาติเดินไปกับพระสุธรรม เป็นระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร
คาเรนบอกว่าเธอได้สนทนากับพระสุธรรมหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประเทศไทย เรื่องการเดินธุดงค์ของพระสุธรรมในประเทศต่างๆ เธอยังสงสัยด้วยว่า พระสุธรรมใช้รองเท้าไปแล้วกี่คู่ ตั้งแต่ออกเดินธุดงค์
สิ่งที่คาเรนสนใจเป็นพิเศษคือประเด็นเรื่องสันติภาพ เธอได้เรียนรู้ว่าความสงบสุขในจิตใจก็คือสันติอย่างหนึ่ง
เธอยังมองว่า “การเดินธุดงค์เพื่อสันติภาพ” ของพระสุธรรมแตกต่างจากการสร้างสันติภาพที่เธอเคยเห็นมา เพราะเป็น spiritual peace หรือสันติสุขทางจิตวิญญาณ ที่คนรอบข้างสัมผัสได้
ที่สำคัญ เธอบอกว่า การที่พระสุธรรมเลือกที่จะมาเดินธุดงค์ในอเมริกา แทนที่จะเป็นประเทศอื่นที่อาจจะเดินธุดงค์ได้สบายกว่านี้ แสดงให้เธอเห็นว่าพระสุธรรมให้ความเมตตากับอเมริกา ทั้ง ๆ ที่พระสุธรรมเป็นคนต่างชาติ ทำให้เธอรู้สึกซาบซึ้งมาก
ส่วนคริสเตียน โคเบิ้ล (Christian Kobel) และคู่หมั้น หลังจากทราบข่าวการเดินธุดงค์ของพระสุธรรมจากข่าว ทั้งคู่ก็ขับรถมาตามหาและนิมนต์พระสุธรรมไปจำวัดที่บ้านด้วย เพื่อเป็นการสนับสนุนภารกิจการเดินเพื่อสันติภาพครั้งนี้
พระสุธรรมได้สอนให้ คริสเตียน และคู่หมั้น คาริสซ่า กุนที่ ทำสมาธิแบบง่าย ๆ และทั้งคู่ก็ได้พยายามดูแลพระสุธรรมเป็นอย่างดี โดย คาริสซ่า ได้ขอซักจีวรให้พระสุธรรม ซึ่งเธอคิดว่าอาจจะไม่ได้ซักมาเป็นเวลานาน
คริสเตียนเล่าให้ฟังว่า หลายคนขอบคุณและชมเชยที่เขาดูแลพระสุธรรม แต่ก็มีบางคนที่แสดงความประหลาดใที่่ เขากล้ารับคนแปลกหน้ามานอนในบ้าน ซึ่งทำให้เขาเห็นว่าคนอเมริกันยังมีความกลัวและหวาดระแวงคนต่างถิ่นต่างภาษาอยู่มาก
นั่นยิ่งทำให้เขาเห็นว่าการเดินธุดงค์เพื่อสันติภาพของพระสุธรรม เป็นภารกิจที่สำคัญ เขาอยากให้ชาวอเมริกันคนอื่น ๆ มีโอกาสได้สัมผัสและแลกเปลี่ยนกับพระสุธรรมอย่างใกล้ชิดแบบเดียวกัน ซึ่งเขาคิดว่าน่าจะช่วยให้หลายคนหันมาเปิดใจกว้างและหยิบยื่นน้ำใจให้คนต่างชาติต่างภาษา สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีในสังคมต่อไป