เมื่อวันศุกร์ ผู้สื่อข่าวไทยอย่างน้อยสามรายได้รับบาดเจ็บขณะปฏิบัติหน้าที่รายงานการชุมนุมของผู้ประท้วงต่อต้านการประชุมเอเปคที่กรุงเทพฯ ขณะทื่สมาคมสื่อออกแถลงการณ์เรียกร้องตรวจสอบเหตุทำร้ายร่างกายผู้สื่อข่าว ด้านตำรวจเผย เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์สลายการรวมตัวกันเนื่องจากผู้ชุมนุมฝ่าฝืนข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง
สำนักข่าวไทยพีบีเอสรายงานว่า ชาลินี ถิระศุภะ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ถูกของแข็งบริเวณใกล้ดวงตาขวา มีอาการตาแดงและเลือดซึมออกมา ขณะมีการปะทะระหว่างตำรวจเข้ากระชับพื้นที่ต่อผู้ชุมนุม "กลุ่มราษฎรหยุดเอเปค 2022" ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
คลิปวิดีโอที่เผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ เผยให้เห็นว่า ชาลินีถูกของแข็งเขวี้ยงใส่ใบหน้าขณะที่เธอกำลังบันทึกภาพแนวตำรวจใกล้กับอนุสาวรีย์ดังกล่าว
ทางด้านสื่อออนไลน์ The Matter รายงานว่า สุทธิพัฒน์ กนิษฐกุล ผู้สื่อข่าวของคน ถูกตำรวจควบคุมฝูงชนใช้กระบองฟาดจนล้ม และถูกทำร้ายที่บริเวณศีรษะซ้ำหลังลมล้งแล้วจนได้รับบาดแผล ที่บริเวณถนนดินสอ
The Matter รายงานคำพูดของสุทธิพัฒน์ว่า เขาสวมปลอกแขนผู้สื่อข่าวเพื่อแสดงตัวตนอย่างชัดเจน พร้อมถืออุปกรณ์รายงานสดระหว่างที่ตำรวจกำลังสลายการชุมนุม
ในขณะเดียวกัน แถลงการณ์จากกองบรรณาธิการสื่อออนไลน์ The Isaan Record ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนได้เข้าทำร้ายวรัญญู คงสถิตย์ธรรม นักข่าวพลเมืองของตน จนได้รับบาดเจ็บ ที่บริเวรณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและถูกนำตัวไปดำเนินคดีที่ สน. ทุ่งสองห้อง แม้ว่าทางวรัญญูจะแจ้งต่อตำรวจว่าตนเป็นผู้สื่อข่าวก็ตาม
กองบรรณาธิการของ The Isaan Record ได้เรียกร้องให้ตำรวจหยุดใช้ความรุนแรงกับสื่อมวลชนที่รายงานความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมทุกรูปแบบ และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยตัววรัญญูโดยเร็วที่สุด และรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ กลุ่มราษฎรหยุดเอเปค 2022 นี้ มีจุดประสงค์ในการชุมนุมต่อต้านนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว ที่ไทยนำเสนอในที่ประชุม เนื่องจากพวกเขามองว่าเป็น “แนวคิดที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนชั้นนำ” และเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยุติบทบาทการเป็นประธานการประชุมเอเปคโดยทันที
รอยเตอร์รายงานว่า ตำรวจได้ใช้กระสุนยางในการสลายการชุมนุมครั้งนี้ด้วย
ทางด้าน ธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ระบุในแถลงการณ์ว่า ได้รับทราบเรื่องที่ช่างภาพของรอยเตอร์และผู้สื่อข่าวของ The Matter ได้รับบาดเจ็บดังกล่าว และเรียกร้องให้ทางการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือรัฐบาล ให้เร่งตรวจสอบที่มาที่ไปและข้อเท็จจริงของเหตุผู้สื่อข่าวถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายอย่างครบถ้วน
“เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่จำนวนมาก และมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการควบคุมดูแลการชุมนุมโดยตรง” ธีรนัยกล่าว “หากผลการตรวจสอบพบว่ามีการกระทำผิดจริง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีบทลงโทษหรือดำเนินการอย่างไร และจะมีการชดใช้ความเสียหายต่อนักข่าวที่ถูกกระทำอย่างไรบ้าง”
ธีรนัยเน้นย้ำว่า ภาครัฐต้องชี้แจงทั้งสองกรณีกับสังคมอย่างเร่งด่วนและโปร่งใส เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทั้งสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน และสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน ซึ่งได้รับการคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ทางด้านหน่วยงานตำรวจที่รับผิดชอบต่อสถานการณ์ดังกล่าว คือ กองอำนวยการร่วมรักษาความปลอดภัยและการจราจรการประชุมเอเปค 2022 หรือ กอร. ให้เหตุผลในเบื้องต้นว่า เจ้าหน้าที่ต้องใช้กำลังเข้าจับกุมผู้ประท้วงที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดและเงื่อนไขในการชุมนุม เรื่องการห้ามเคลื่อบขบวน รวมถึงมีการวางเพลิงรถตำรวจ ทำให้เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ตามยุทธวิธี ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น ตามรายงานของสำนักข่าวไทยรัฐ
“ตำรวจมีแผนการดูแลความปลอดภัยของสื่อมวลชน คือ ต้องมีการลงทะเบียนสื่อ ต้องสวมปลอกแขน และกำหนดพื้นที่ปลอดภัยของสื่อมวลชนไว้แล้ว” พล.ต.ต. อาชยน ไกรทอง โฆษก กอร. ระบุ
“แต่จากภาพที่ปรากฎออกมาว่าเจ้าหน้าที่อาจปฏิบัติหน้าที่เกินกว่าเหตุนั้น...ก็จะมีการตรวจเป็นข้อเท็จจริงทั้งหมด โดยยังไม่สามารถด่วนสรุปได้ เนื่องจากเหตุการณ์เพิ่งเกิดแต่ยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรม และชี้แจงให้กับประชาชนทราบโดยเร็วเพื่อคลายข้อสงสัย”
- ที่มา: Reuters, ThaiPBS, The Matter, The Isaan Record, ไทยรัฐ, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย