ไม่นานนี้ประธานาธิบดีโอบามาลงนามในกฎหมายห้ามการนำเข้าสินค้าที่ใช้แรงงานทาส โดยปิดช่องโหว่ที่ผู้นำเข้าเคยใช้มาเป็นเวลามากกว่า 80 ปี
การแก้กฎหมายครั้งนี้อาจส่งผลถึงการนำเข้าสินค้าอาหารทะเลจากไทยด้วย
ประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกอาหารทะเลอันดับสามของโลก กำลังเจอแรงกดดันจากยุโรปด้วย ขณะนี้ยุโรปให้เวลาไทยต่ออีก 6 เดือนก่อนใช้มาตรการลงโทษ เพื่อที่จะให้ไทยแก้ไขปัญหาจากประมงที่ไม่มีควบคุมและไม่ได้รายงานข้อมูล
ท่ามกลางแรงกดดัน ในช่วงสองปีที่ผ่านมารัฐบาลไทยพยายามเร่งมือแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานผิดกฎหมาย ทั้งการปราบปรามและการปรับปรุงกฎหมาย
ผู้สื่อข่าว Ron Corben ของวีโอเอราย สัมภาษณ์ นาย Htoo Chit ประธานมูลนิธิช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมประมง ที่จังหวัดพังงา
เขาเชื่อว่ามีพัฒนาการที่ดีที่ฝ่ายรัฐเป็นผู้ผลักดัน และหากเปรียบเทียบกับรัฐบาลก่อนๆ งานของเจ้าหน้าที่ชุดปัจจุบันมีการประสานงานกับกลุ่ม NGO อย่างเช่นมูลนิธิของเขาอย่างดี
อย่างไรก็ตาม Andy Hall นักวิจัยและผู้รณรงค์เรียกร้องสิทธิของแรงงานต่างด้าว กล่าวว่ายากที่จะตอบได้ว่าการเปลี่ยนแปลงใหม่จะสามารถลดการกระทำผิดได้มากน้อยเพียงใด เขาวิจารณ์ว่ามาตรการบางอย่างไม่น่าช่วยแก้ปัญหาในระยะยาว
อาจารย์ปณิธาน วัฒนายากรที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าไทยมีความตั้งใจที่จะปรับปรุงสถานการณ์การค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนและมีหน่วยงานเกี่ยวข้องมากมาย
ที่ผ่านมาบริษัทผู้ส่งอาหารทะเลออกรายใหญ่ Thai Union Frozen Products ร่วมมือแก้ไขปัญหานี้ด้วยการตัดสัมพันธ์กับผู้จัดส่งวัตถุดิบอาหารทะเลที่มาจากแรงงานทาส
อาจารย์ปณิธานกล่าวว่า สิ่งที่ไทยมุ่งมั่นทำ น่าจะมีน้ำหนักเพียงพอที่จะทำให้ไทยได้รับการยกระดับในรายงานด้านการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ ที่เรียกว่า TIP Report หลังจากที่ถูกคงระดับไว้ที่กลุ่มที่น่ากังวลที่สุดเมื่อปีที่แล้ว
โดยสหรัฐฯ จะเสร็จสิ้นการตรวจข้อมูลรอบใหม่ในเดือนนี้
(รายงานโดยสำนักข่าวต่างประเทศและห้องข่าววีโอเอ / เรียบเรียงโดย รัตพล อ่อนสนิท)