'วโรดม คำแผ่นชัย' ดุษฎีบัณฑิตด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเทค อธิบายการทำงานของระบบควบคุมการใช้พลังงานอัจฉริยะต้นแบบ ที่เขามีส่วนร่วมคิดค้นและวิจัยเมื่อครั้งยังศึกษาระดับปริญญาเอก ภายในห้องปฏิบัติการของสถาบันวิจัยด้านเทคโนโลยีขั้นสูง ของเวอร์จิเนียเทค ในรัฐเวอร์จิเนีย เมื่อหลายปีก่อน
"อุปกรณ์ตรวจวัดพลังงานอัตโนมัติ หรือ smart meter (ที่ผมออกแบบ) มีข้อดีที่ว่าจะวัดการใช้ไฟในบ้านหรือในอาคารให้เรา คือถ้าเรารู้ว่าตอนนี้่เราใช้ไฟเท่าไหร่ เราก็จะสามารถประหยัดได้ แล้วเราจะรู้ได้ทันทีเมื่อตอนเราไม่อยู่ในบ้านหรือไม่อยู่ในตึก การใช้ไฟของเราปกติหรือเปล่า”
ความสนใจด้านการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าด้วยเทคโนโลยีประหยัดพลังงาน อยู่ในทุกลมหายใจเข้าออกของวิศวกรคนนี้มาหลายปีแล้ว
“ตอนนี้่สนใจเรื่องบ้านอัจฉริยะ (smart home) กับอาคารอัจฉริิยะ (smart building) แล้วก็เป็นเรื่องของการทำตอบสนองความต้องการ (demand response ) คือจะทำยังไงให้บ้านกับอาคาร ลด ประหยัดพลังงานลงมาโดยการใช้เทคนิคต่างๆ เช่น ทำ optimizations หรือ การหาค่าเหมาะที่สุด ทำอะไรให้แบบว่าจะควบคุมยังไงให้บ้านเราใช้พลังงานอย่างคุ้มค่ามากขึ้น (efficiency) ทำยังไงให้ตึกใช้ไฟน้อยลงและคุ้มค่ามากขึ้น”
โครงการคิดค้นซอฟแวร์ระบบการจัดการไฟฟ้าในอาคารอัจฉริยะ หรือ BEMOSS (Building Energy Management Open Source Software) เป็นหนึ่งในผลงานที่ ดร.วโรดม ร่วมกับทีมนักวิจัยของเวอร์จิเนียเทคคิดค้นขึ้น จนได้รับการคัดเลือกและสนับสนุนจากกระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ ให้เป็นโครงการต้นแบบที่เปิดกว้างสู่สาธารณะ นำไปพัฒนาปรับใช้เพื่อการประหยัดพลังงานอย่างแพร่หลายทั่วสหรัฐฯมาแล้ว
ดร. วโรดม เชื่อว่างานวิจัยที่เขามีส่วนคิดค้นนี้จะสามารถนำมาต่อยอดเพื่อแก้ปัญหาการใช้พลังงานที่เมืองไทยในระยะยาวได้
“ถ้าเราดูที่ไทย ก็รู้ว่าการสร้างโรงไฟฟ้าก็สร้างเพิ่มไม่ได้ บ้านเราก็ยังมีปัญหาใหญ่ๆในเรื่องของความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้า (power demand) ทีนี้่จะทำโรงไฟฟ้าอะไรก็ทำไม่ได้ ก็โดนต่อต้านบ้าง หรืออาจจะทำไฟฟ้าพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์บ้าง ก็ยังแพงอยู่
การที่เราจะแก้ปัญหาวิกฤตพลังงาน ทางที่ดีที่สุดและเร็วที่สุดก็คือการลดการใช้พลังงาน เพราะฉะนั้นจึงเป็นหัวข้อที่น่าสนใจ และที่อเมริกาก็เหมือนกันก็เป็นเรื่องใหญ่ที่กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ
ให้ความสำคัญและให้เงินประมาณ 2 ล้านเหรียญให้มาวิจัยในเรื่องนี้ ก็เป็นเงินเยอะเหมือนกันที่เขาจะให้มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในการวิจัย”
นอกจากแนวคิดและความรู้จากงานวิจัยแล้ว ประสบการณ์การทำงานและการเรียน ในช่วงที่เดินทางมาศึกษาระดับปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐฯเป็นหนึ่งในสิ่งที่ ดร.วโรดม อยากจะแบ่งปันเพื่อเป็นประโยชน์ในการเตรียมตัวสำหรับผู้สนใจอยากไปเรียนต่างประเทศ
“หลักๆก็ต้องเตรียมเรื่องของภาษา ตอนผมมาแรกๆเรื่องภาษาสำคัญมาก เคยสอบ TOEFL รอบแรกไม่ผ่าน พอรอบที่สองถ้าไม่ผ่านจะไม่ได้มาแล้วก็กดดันพอสมควร ทั้งอาจารย์ที่นี่ก็ช่วยลุ้น ช่วยแนะนำสอนให้ รอบหลังก็สอบผ่านและได้มา ส่วนเรื่องทางด้านเทคนิคต่างๆ เราไม่กลัวอยู่แล้ว เพราะเรารียนสายด้านพลังงาน วิศวะไฟฟ้ามา ก็ไม่กลัวเท่าไหร่ ที่ยากที่สุดคือเรื่องภาษา..มาเรียนก็ต้องปรับปรุง มาแรกๆผมยังพูดอังกฤษไม่ค่อยได้เรื่อง ก็ใช้วิธีไปที่โบสถ์ที่สอนภาษาอังกฤษฟรี หรือจ่ายเพียง 20 เหรียญ ราคาถูกในการเรียนภาษา”
วโรดม บอกว่า ในการเรียนระดับสูงในระดับปริญญาเอกนั้น นอกจากจะต้องมีพื้นฐานความรู้และแม่นยำในสาขาที่เรียนแล้ว ก็จำเป็นต้องค้นคว้าวิจัยในเรื่องใหม่ๆที่ท้าทายมากขึ้น
“ความท้าทายจริงๆเป็นเรื่องของการทำรีเสิร์ชมากกว่า เพราะอาจารย์จะให้ปัญหามา และเราก็ต้องคิดว่าเราจะแก้ปัญหานี้ยังไง เราก็ต้องอ่านหนังสือเยอะมา ต้องไปรีวิวงานวิจัยต่างๆเยอะมาก เพราะเราต้่องนำเสนอวิธีที่ไม่เคยมีใครในโลกทำมาก่อน ก็เป็นความท้าทายแล้วเราก็เหมิอนอยู่เวทีโลก ถ้าเราเสนออะไรออกไปแล้วไม่ค่อยน่าเป็นไปได้ เขาก็จะถูกปฏิเสธกลับมาได้”
'วโรดม คำแผ่นชัย' เป็นนักเรียนทุนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในระดับปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทายาลัย และปริญญาโทจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย หรือ AIT ก่อนจะได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเทค ในสหรัฐอเมริกา ให้ศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกจนสำเร็จการศึกษาเมื่อปี ค.ศ.2016
ปัจจุบัน ดร. วโรดม กลับมารับหน้าที่เป็นวิศวกร สังกัดกองวิจัย ฝ่ายวิจัยและพัฒนาระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และยังคงสานต่อแนวทางของตัวเอง ในฐานะหัวหน้าทีมพัฒนาต้นแบบระบบบริหารและจัดการพลังงานอัจฉริยะสำหรับบ้านพักอาศัย (PEA HiVE Platform) นอกจากนี้ยังใช้ความรู้ความสามารถรับหน้าที่เป็นวิทยากรและอาจารย์พิเศษถ่ายทอดและแลกเปลี่ยน ความรู้ตามสถาบันอุดมศึกษาและแวดวงวิชาการทางเทคโนโลยี อย่างต่อเนื่อง