รศ.มาณิศา พิพัฒนสมพร อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ (Electrical and Computer Engineering) รับบทบาทด้านการสอนและทำวิจัย ที่มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเทค (Virginia Tech) ในรัฐเวอร์จิเนียมากว่า 15 ปีแล้ว
”คือเริ่มจากเป็นนักเรียนปริญญาเอกที่เวอร์จิเนียเทค หลังจากที่จบก็ทำวิจัยหลังปริญญาเอก (Postdoctoral researcher) อีก 1 ปี แล้วก็ต่อไปเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ (Assistant Professor) และ รองศาสตราจารย์ (Associate Professor)” ดร.มาณิศา เล่าให้วีโอเอ ไืทย ถึงเส้นทางสายวิชาการในต่างประเทศของเธอ
จบ ป.เอก เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในอเมริกาด้วยวัยไม่ถึง 30 ปี
โอกาสครั้งใหญ่ที่ ดร.มาณิศา ได้รับในเกือบจะทันทีหลังจากเรียนจบปริญญาเอกด้านวิศวกรรมไฟฟ้าที่เวอร์จิเนียเทค คือจุดเริ่มต้นสำคัญของการก้าวขึ้นมาเป็นอาจารย์คนไทยที่ต้องสอนนักเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐฯด้วยวัยเพียงไม่ถึง 30 ปี
“ก็ถือว่าอายุน้อยเพราะว่าตอนเรียนจบปริญญาเอก อายุ 26 ปี พอเริ่มสอนจะอายุประมาณ 28 ปี ตอนที่เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ เด็กที่นี่ก็จะช่างถาม อยากรู้ คือเค้าถามเราก็ตั้งใจบอก ในคลาสแรก ก็ตื่นเต้นเพราะว่าเราเป็นคนต่างชาติมา แล้วเด็กๆก็เป็นฝรั่งและชาวต่างชาติ..
..บรรยากาศก็จะไม่เหมือนทั่วไปเพราะว่าเราสอนอยู่ที่วิทยาเขตนอร์ทเทิร์นเวอร์จิเนีย ขณะที่มีเด็กๆอีกส่วนหนึ่งอยู่ที่วิทยาเขตหลักที่ แบล็กส์เบิร์ก (Blacksburg) ที่สอนผ่านวีดิโอ ก็คือจะต้องสอนในห้องส่งผ่านวิดิโอ หากมีการถาม ก็จะถามผ่านวีดิโอ ซึ่งก็ผ่านไปด้วยดี แต่คลาสแรกที่เตรียมหนักมากเพราะว่าเนื่องจากเราก็ต้องเริ่มเตรียมเอกสารการเรียนการสอนทุกอย่างใหม่ทั้งหมด และก็ด้วยความตื่นเต้นด้วย เราก็ต้องฝึกคล้ายกับฝึกการสอนมาก่อนกับตัวเอง"
เชี่ยวชาญด้านงานวิจัย และค้นคว้าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
นอกจากการเรียนการสอนที่ต้องรับผิดชอบ รศ.มาณิศา ยังรับหน้าที่หลักในด้านการค้นคว้าและวิจัยขั้นสูงภายในห้องปฏิบัติการ ของศูนย์วิจัยแห่งมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเทค วิทยาเขตที่ตั้งอยู่ในย่านอาร์ลิงตัน ไม่ไกลจากกรุงวอชิงตัน โดยจะเน้นการเขียนเสนอโครงการเพื่อขอรับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อพัฒนางานวิจัยทางเทคโนโลยีให้ประสบความสำเร็จมาแล้วหลายโครงการ
“ก็คือหน้าที่หลักจะเป็นทำวิจัย และก็สอนจะเป็นหน้าที่รอง ที่นี่จะมีองค์กรที่ให้เงินจะมีกระทรวงพลังงาน มูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ และกระทรวงกลาโหม เป็นหลักในการสนับสนุนงบประมาณ แล้วเขาจะมี การเชิญชวนออกมาว่าต้องการให้พัฒนางานวิจัยแบบไหนเพื่อที่งานวิจัยจะเป็นประโยชน์ในภารกิจขององค์กรนั้น คล้ายกับแนวทางว่าต้องการอะไร เราก็นำเสนอไปตามความสามารถหรืองานวิจัยที่เท่าเราอยู่ และหากเขาชอบก็จะได้พัฒนาความรู้และพัฒนาที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม” ดร.มาณิศา กล่าว
ความรู้ในห้องเรียนที่ขับเคลื่อนด้วยงานวิจัยคือการเรียนรู้ใหม่ๆตลอดเวลา
ประสบการณ์การเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างประเทศหลายปี ทำให้ กร.มาณิศา มองเห็นแรงพลวัตรการขับเคลื่อนด้านความรู้ที่ปรับตัวได้รวดเร็วมากกว่าการเรียนการสอนในเมืองไทย
การศึกษาของเมืองไทยค่อนข้างตายตัว จะ 10-20 ปีผ่านมาก็ยังสอนเหมือนเดิม แต่เนื่องจากที่นี่ การเรียนการสอนจะถูกผลักดันด้วยงานวิจัย จะมีงานวิจัยใหม่ๆขึ้นมาตลอด อาจารย์ที่ได้รับทุนวิจัยมาก็จะพัฒนาความรู้ตลอด และเมื่อมีการพัฒนาความรู้ อาจารย์ก็สามารถที่จะเอาสิ่งที่พัฒนาแล้วไปใส่ไว้ในห้องเรียน ในการเรียนการสอนที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา"
ใช้ประสบการณ์และความรู้ตอบแทนบ้านเกิด
แม้จะเป็นคนไทยที่มาอาศัยและทำงานในแวดวงวิจัยระดับสูงในต่างแดน แต่ที่ผ่าน ดร.มาณิศา ก็ประสานความร่วมมือกับสถาบันหลายแห่งในการใช้ประสบการณ์และความรู้กลับมาเป็นประโยชน์ให้กับประเทศบ้านเกิดอยู่บ่อยๆครั้งเช่นกัน
“ใจจริงเราเก็บสะสมประสบการณ์ พวกสมาร์ทกริด ระบบบ้านอัจฉริยะมากว่า 10 ปีแล้ว ก็คือตอนนี้ก็อยากจะทำประโยชน์ให้กับเมืองไทย คือการให้ความรู้ในสิ่งที่เรารู้”
รศ.ดร.มาณิศา พิพัฒนสมพร สำเร็จการศึกษาปริญสาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งเอเชีย หรือ AIT ก่อนจะเดินทางมาศึกษาต่อปริญญาเอกและทำงานเป็นที่มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเทคแห่งนี้
รายงานพิเศษการศึกษาของวีโอเอ พรุ่งนี้ติดตามเรี่องราวของ หนึ่งในลูกศิษย์ของ ดร.มาณิศา ที่หลังจากสำเร็จปริญญาเอกที่เวอร์จิเนียเทคแห่งนี้ ก็กลับไปเมืองไทยพร้อมกับความรู้ขั้นก้าวหน้าที่มีส่วนช่วยพัฒนาวงการเทคโนโลยีอาคารอัจฉิยะให้กับหน่วยงานต้นสังกัดได้อย่างโดดเด่นในช่วงปีที่ผ่านมา