ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ปักหมุด 4 คดีชี้อนาคตการเมืองไทยสัปดาห์นี้: รอยเตอร์


แฟ้ม: นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ระหว่างการสัมภาษณ์ กับรอยเตอร์ ที่เกาะสมุย ประเทศไทย เมื่อ 7 เม.ย. 2024
(REUTERS/Chalinee Thirasupa/File Photo)
แฟ้ม: นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ระหว่างการสัมภาษณ์ กับรอยเตอร์ ที่เกาะสมุย ประเทศไทย เมื่อ 7 เม.ย. 2024 (REUTERS/Chalinee Thirasupa/File Photo)

ไทยเตรียมรับสัปดาห์สำคัญ ที่มีความเคลื่อนไหวรวมถึงการพิจารณาคดีการเมือง 4 คดี ที่อาจจุดชนวนวิกฤตการเมือง ในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเป็นทั้งช่วงเวลาชี้ชะตานายกรัฐมนตรีไปจนถึงอนาคตของพรรคฝ่ายค้าน

ในวันอังคารที่ 18 มิถุนายนนี้ มี 4 คดีสำคัญกับการเมืองไทย ทั้งนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร พรรคก้าวไกล รวมทั้งวุฒิสภา

ในช่วงหลายสิบปีปีมานี้ การเมืองไทยได้รับการหล่อหลอมมาจากการต่อสู้ระหว่างพรรคแนวทางอนุรักษ์นิยมและกลุ่มผู้ภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ กับพรรคแนวทางประชานิยมที่ได้รับการสนับสนุนจากทักษิณ ชินวัตร และพรรคก้าวไกลที่เป็นฝ่ายค้านในปัจจุบัน

สถาบันวิจัย ANZ ให้ทัศนะกับรอยเตอร์ว่า “คดีความต่าง ๆ นี้ได้ฉายภาพของความเปราะบางและความซับซ้อนของการเมืองไทย .. ส่วนในมิติเศรษฐกิจ สิ่งที่ต้องกังวลอย่างเร่งด่วนคือโอกาสที่จะเกิดการประท้วงและชะลอการดำเนินนโยบายการคลัง”

คุณสมบัตินายกฯ เศรษฐา

ในคดีของนายเศรษฐา นักการเมืองหน้าใหม่ที่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนสิงหาคมปีก่อน ถูก 40 สว. ยื่นถอดถอนจากตำแหน่ง เนื่องจากการแต่งตั้งทนายความที่เคยต้องโทษจำคุกเข้ารับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี

นายเศรษฐา ที่ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ อาจพ้นจากตำแหน่งได้หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าเขาขาดคุณสมบัติเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น จะต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และพรรคเพื่อไทยจะต้องเสนอแคนดิเดตคนใหม่ขึ้นมา ซึ่งต้องได้รับมติเห็นชอบจากสภาในลำดับต่อไป

ทั้งนี้ คาดว่าศาลจะมีการประกาศวันพิจารณาคดีหรือวันตัดสินในวันอังคารนี้

คดี ม.112 ทักษิณ

อีกด้านหนึ่งที่ต้องจับตาในวันที่ 18 มิถุนายนนี้ คือ ทางอัยการสูงสุดได้นัดอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร มาสั่งฟ้องในคดีอาญา มาตรา 112 และกฎหมายพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการให้สัมภาษณ์ที่กรุงโซล เกาหลีใต้เมื่อปี 2015

หลังจากนั้นทางศาลจะพิจารณาว่าจะให้ประกันตัวนายทักษิณ ที่ยืนยันความบริสุทธิ์ในคดีนี้หรือไม่

อดีตนายกรัฐมนตรีไทยวัย 74 ปี กลับมายังประเทศไทยหลังลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ 15 ปี เพื่อรับโทษจำคุก 8 ปี ก่อนที่จะได้รับการลดโทษเหลือเพียง 1 ปี ตามมาด้วยการได้รับอิสรภาพจากการพักโทษในเวลาต่อมา

การกลับมาไทยของเขาเกิดขึ้นในช่วงที่พรรคเพื่อไทยได้ขึ้นเป็นรัฐบาล แม้จะได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนตามหลังพรรคก้าวไกลมาเป็นอันดับ 2 ในการเลือกตั้งเมื่อปีก่อน บวกกับการกลับมาของเขาอย่างราบรื่นและการถูกคุมขังในเวลาอันสั้น ซึ่งเขาใช้เวลาส่วนใหญ่ในโรงพยาบาลนั้น ทำให้เกิดการคาดการณ์ว่าเขาทำข้อตกลงกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมและกองทัพ แต่บรรดาพันธมิตรของเขาออกโรงปฏิเสธ

อนาคตของพรรคก้าวไกล

ส่วนคดีที่อาจนำไปสู่การยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรราว 30% หลังชนะเลือกตั้งเมื่อปีก่อน แต่ถูกขัดขวางโดยนักการเมืองสายอนุรักษ์นิยมจนไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เป็นอีกคดีที่ต้องจับตาในวันที่ 18 มิถุนายนนี้เช่นกัน

ศาลรัฐธรรมนูญกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาความตามคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรณียื่นยุบพรรคก้าวไกล จากการมีนโยบายพูดถึงการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (ม.112) หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำสั่งว่าการทำเช่นนั้นถือเป็นการบ่อนทำลายการปกครองของไทย และให้หยุดการกระทำดังกล่าว

หากพรรคก้าวไกล ซึ่งปฏิเสธการกระทำผิดในข้อกล่าวหานี้ ถูกตัดสินว่ามีความผิด พรรคก้าวไกลอาจมีโทษถึงการถูกยุบพรรค และตัดสิทธิทางการเมืองแก่กรรมการบริหารพรรคอีก 10 ปี

ชะตากรรมการเลือกตั้งสว.

ในที่ 18 มิถุนายนนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีกำหนดอ่านคำพิจารณาคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ หลังศาลฯ รับคำร้องว่ากระบวนการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภานั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

หากกระบวนการเลือกตั้งสว.ถูกชะลอหรือล่าช้าออกไป อาจเป็นการหยิบยื่นโอกาสให้สว.แต่งตั้งโดยกองทัพ ซึ่งเป็นใจกลางของการจัดตั้งรัฐบาล ที่มีบทบาทในการปิดกั้นการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลเมื่อปีที่แล้ว ให้ยังคงอำนาจต่อไปในภาวะสุญญากาศนี้

  • ที่มา: รอยเตอร์

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG