สืบเนื่องจากปฏิบัติการช่วยเหลือสมาชิกทีมฟุตบอลและโค้ชทีมหมูป่า อะคาเดมี รวม 13 คน ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จ.เชียงราย ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน ซึ่งล่าสุดทางเว็บไซต์ของหน่วยซีล ประเทศไทย ระบุว่า สามารถช่วยเหลือออกมาได้แล้ว 4 คน
รักษาการณ์ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร กล่าวว่า ปฏิบัติการช่วยเหลือครั้งนี้เดินหน้าไปได้ดีกว่าที่คาดไว้ และขณะนี้ต้องการเวลาอีกราว 10 ชม.สำหรับปฏิบัติการขั้นต่อไป
ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ ระบุว่า ภารกิจนี้คือการต่อสู้กับน้ำ และการพบเด็ก 12 คนและโค้ชภายในถ้ำนั้น แม้จะเป็นชัยชนะเล็กๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าภารกิจเสร็จสิ้นแล้ว เพราะสงครามครั้งนี้จะจบก็ต่อเมื่อ เราชนะทั้งสามส่วน คือ พบตัว - ช่วยเหลือกู้ภัย - และส่งกลับบ้านโดยปลอดภัย
ด้านคุณ Duke Speed อดีตทหารนาวิกโยธินสหรัฐฯ และผู้เชี่ยวชาญด้านการดำน้ำในที่แคบ ชี้ว่า หัวใจสำคัญของปฏิบัติการนี้คือการวางแผนสำหรับการจัดเตรียมถังออกซิเจนตามจุดต่างๆ ตลอดเส้นทางที่จะนำเด็กๆ ออกมาจากถ้ำ รวมถึงการเติมถังออกซิเจนดังกล่าวให้เต็มหลังจากนำเด็กออกมาแต่ละครั้ง
Duke Speed กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ควรพิจารณาอีกอย่างหนึ่งคือความปลอดภัยของนักดำน้ำเอง จึงควรให้นักดำน้ำเหล่านั้นได้พักอย่างเพียงพอหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจแต่ละเที่ยว
ส่วนอาจารย์ Jacob Hyde ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาทหาร มหาวิทยาลัยเดนเวอร์ ในรัฐโคโลราโด ให้ความเห็นกับสื่อ Washington Post ของสหรัฐฯ ว่า เมื่อเด็กๆ ได้รับการช่วยเหลือออกมาเรียบร้อย ก็อาจยังมีความเสี่ยงเรื่องอาการเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น อาการอ่อนเพลียอย่างรุนแรง และร่างกายขาดสารอาหาร ส่วนทางจิตใจนั้น ผู้เชี่ยวชาญผู้นี้เตือนให้ระวังเรื่องอาการซึมเศร้า วิตกกังวล โมโหฉุนเฉียว และการไม่สามารถปรับรูปแบบการนอนหลับอย่างปกติได้ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน