ลิ้งค์เชื่อมต่อ

5 ภารกิจช่วยเหลือคนติด 'ถ้ำ-เหมือง-เรือดำน้ำ' ในรอบ 20 ปีทั่วโลก


In this handout photo released by Tham Luang Rescue Operation Center, Thai rescue teams walk inside a cave complex where 12 boys and their soccer coach went missing, in Mae Sai, Chiang Rai province, in northern Thailand, July 2, 2018.
In this handout photo released by Tham Luang Rescue Operation Center, Thai rescue teams walk inside a cave complex where 12 boys and their soccer coach went missing, in Mae Sai, Chiang Rai province, in northern Thailand, July 2, 2018.

สำนักข่าว AFP ได้รวบรวม 5 ภารกิจสำคัญในปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ใน ถ้ำลึก เหมือง และเรือดำน้ำ ทั่วโลก ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการมอบ "ชีวิตใหม่" ให้กับผู้ประสบเหตุเหล่านั้น​

เมืองกรามัต ฝรั่งเศส ปี ค.ศ.1999

นักสำรวจถ้ำ 7 คน ติดอยู่ในถ้ำลึกในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศสเป็นเวลานานถึง 10 วัน หลังจากเกิดพายุใหญ่ที่ทำให้น้ำท่วมปิดทางเข้าออกถ้ำทั้งหมด

สิ่งที่ตามมาคือปฏิบัติการช่วยเหลืออย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในฝรั่งเศส บรรดาผู้เชี่ยวชาญช่วยกันเจาะผนังหินของถ้ำแห่งนั้นหลายจุดเพื่อหาทางเข้าไปช่วยเหลือคนที่ติดอยู่ด้านใน

สุดท้ายทีมงานช่วยเหลืือสามารถเข้าถึงตัวชายทั้ง 7 คนในวันที่ 22 พฤศจิกายน 1999 ด้วยการเจาะผนังถ้ำและเดินตามเส้นทางน้ำใต้บาดาล และพบว่าทั้ง 7 คนอยู่ในสภาพที่อิดโรยแต่ยังแข็งแรง และยังมีน้ำและแก๊สสำหรับจุดไปเพียงพอในการดำรงชีวิตในถ้ำลึกอีกสองวัน

แหลมกัมแชตก้า รัสเซีย ปี ค.ศ. 2005

ลูกเรือ 7 คนของเรือดำน้ำ Priz ของรัสเซียกำลังจะไม่มีอากาศหายใจ หลังจากติดอยู่ในเรือดำน้ำใต้ทะเลลึกเป็นเวลาสามวัน

เรือดำน้ำดังกล่าวแล่นไปติดหล่มใต้ทะเลเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2005 ใต้ความลึก 190 เมตร ก่อให้เกิดความกังวลต่อประชาชนชาวรัสเซียที่ติดตามข่าวนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากก่อนหน้านี้ 5 ปี เรือดำน้ำ Kursk ได้เกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกัน แต่ที่โชคร้ายคือลูกเรือทั้งหมด 118 เสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจ

แต่ในที่สุด ความช่วยเหลือก็ไปถึงลูกเรือของ Priz หลังจากที่หุ่นยนต์กู้ภัยใต้ทะเลของอังกฤษสามารถช่วยให้เรือดำน้ำลำนั้นเป็นอิสระและลอยขึ้นสู่ผิวน้ำได้อีกครั้ง

ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน มอบเหรียญกล้่าหาญให้กับคณะกู้ภัยชาวอังกฤษกลุ่มนั้น และรัฐบาลมอสโกประกาศซื้อหุ่นยนต์กู้ภัยใต้ทะเลหลายตัวจากทางอังกฤษ เพื่อใช้ในปฏิบัติการช่วยเหลือลักษณะเดียวกัน

เมืองโคปิอาโป ชิลี ปี ค.ศ. 2010

คนงานเหมืองชาวชิลี 33 คน ติดอยู่ในเหมืองใต้ดินในความลึก 600 เมตร หลังจากหินถล่มปิดทางเข้าออกเหมืองเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2010

ตอนแรกรายงานข่าวคาดว่าคนงานเหมืองทุกคนเสียชีวิต แต่การตรวจสอบในช่วง 17 วันหลังจากหินถล่มพบสัญญาณการรอดชีวิตของชาย 33 คน หลังจากนั้นจึงเป็นภารกิจการกู้ภัยซึ่งต้องใช้ความพยายามอีกหลายสิบวัน กว่าที่จะสามารถส่งแท่นเจาะลงไปใต้ดินและนำคนงานเหล่านั้นกลับขึ้นมาได้

รวมเวลาทั้งหมดที่คนงาน 33 คนติดอยู่ในเหมืองใต้ดินคือเกือบ 70 วัน โดยในช่วง 17 วันแรกนั้น พวกเขามีเพียงปลาทูน่ากระป๋อง 15 กระป๋อง ในการดำรงชีพ ซึ่งต้องใช้วิธีแบ่งกันอย่างประหยัดและเท่าเทียม เพื่อให้สามารถประทังชีวิตให้นานที่สุด

ข่าวนี้ได้รับความสนใจไปทั่วโลก และได้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเรื่อง 33 ออกฉายเมื่อปี ค.ศ. 2015

อิคา เปรู ปี ค.ศ. 2012

คนงานเหมือง 9 คน รวมทั้งพ่อและลูก ติดอยู่ในถ้ำใต้ดินเป็นเวลา 7 วัน ทางภาคใต้ของเปรู ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน ปี 2012

ปฏิบัติการช่วยเหลือต้องใช้ความพยายามอย่างมาก เนื่องจากที่เกิดเหตุเป็นเหมืองผิดกฎหมาย ไม่มีการตรวจสอบ และเกรงว่าจะเกิดการถล่มลงมาอีกขณะที่หน่วยกู้ภัยเจาะผ่านชั้นดินและหินลงไปข้างล่าง

ในที่สุดเจ้าหน้าที่ก็สามารถช่วยคนงานทั้ง 7 คนขึ้นมาได้ โดยพวกเขาต้องถูกห่อหุ้มด้วยผ่าห่มหนา และต้องใส่หน้ากากกันแสงเอาไว้เพื่อไม่ให้อันตรายต่อดวงตา เนื่องจากใช้ชีวิตอยู่ใต้ดินเป็นเวลาหลายวันโดยที่ไม่เห็นแสงอาทิตย์

โดยหนึ่งในคนงานที่รอดชีวิต กล่าวกับผู้สื่อข่าวขณะที่พบกับครอบครัวของเขาอีกครั้งว่า

"เหมือนกับได้เกิดใหม่อีกครั้ง"

เชียงราย ไทย ปี ค.ศ. 2018

สมาชิกทีมฟุตบอลและโค้ชทีมหมูป่า อะคาเดมี รวม 13 คน หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน หลังเดินทางเข้าไปเที่ยวในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย แล้วไม่กลับออกมา โดยมีเพียงจักรยาน รองเท้าฟุตบอล ทิ้งไว้บริเวณหน้าถ้ำ นอกจากนี้ยังมีสัมภาระและร่องรอยมือของเด็กๆ ที่ผนังถ้ำด้านใน

เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนต้องระดมกำลังค้นหายาวนานเกือบ 10 วัน ท่ามกลางระดับน้ำที่ท่วมสูงและเชี่ยวกรากภายในถ้ำ เนื่องจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนักในช่วงตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา

หลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย จีน และอังกฤษ ส่งเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญด้านกู้ภัยเข้าระดมความช่วยเหลือในการค้นหาและกู้ภัยอย่างเต็มที่

ในที่สุด ทีมค้นหาและกู้ภัยสามารถดำน้ำไปพบผู้รอดชีวิตทั้งหมดได้ในช่วงค่ำของวันที่ 2 ก.ค. แต่ยังคงมีอุปสรรคสำคัญคือการนำตัวเด็กทุกคนและโค้ชออกมาจากภายในถ้ำที่ถูกน้ำท่วม ได้อย่างปลอดภัย

(รายงานจาก AFP / เรียบเรียงโดย ทรงพจน์ สุภาผล)

XS
SM
MD
LG