รายงานชิ้นนี้เป็นตอนที่สองของซีรีส์รายงานพิเศษเหตุผลของคนไทยในสหรัฐฯ ต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดี สืบเนื่องจากตอนที่แล้วที่เป็นเหตุผลของคนไทยที่สนับสนุนพรรคเดโมแครต
“การปกป้องผลประโยชน์ของคนอเมริกันเป็นลำดับแรก นโยบายด้านเศรษฐกิจและภาษี ความเชื่อมั่นในนโยบายการเปิดเมืองท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิด-19 การบังคับใช้กฎหมาย” เป็นประเด็นสำคัญที่คนไทยในสหรัฐฯ ที่พูดคุยกับวีโอเอไทย ต้องการสนับสนุนให้โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน จากพรรคริพับลิกัน ครองเก้าอี้ผู้นำประเทศต่อไป
ศิริรัตน์ ศรีพรหม ชาวไทยในเมืองสก็อตส์เดล รัฐแอริโซนา วัย 42 ปีผู้ทำธุรกิจการฝึกอบรมร่วมกับสามี กล่าวว่านโยบายของรัฐบาลยุคประธานาธิบดีทรัมป์ทำให้การทำภาษีง่ายขึ้น เหลือเงินเก็บมากขึ้น และเป็นนโยบายที่เธอคาดหวังให้ผู้นำสหรัฐฯ ทำต่อไป เธอเสริมด้วยว่า เธอกังวลว่าหากพรรคเดโมแครตมาเป็นผู้นำรัฐบาล จะทำให้กำแพงภาษีกลับไปสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการอาจตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ ทำให้การจ้างงานภายในประเทศลดลง และทำให้ระบบเงินในประเทศหมุนเวียนน้อยลง
“ที่แน่ๆ ดิฉันทำภาษีได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องลงรายการเพื่อเก็บเอกสารทุกอย่าง” ชาวไทยผู้ทำธุรกิจการฝึกอบรมร่วมกับสามี กล่าว “พอมีเงินเหลือ เราก็มีเงินไปจ้างได้อีกสองคน มันมีเงินมาหมุนไม่ใช่ว่าหาเงินมาเท่าใดก็ต้องจ่ายภาษีให้กับรัฐบาล ...ไม่อยากให้รัฐบาลต้องมาเกี่ยวกับทุกธุรกรรมการเงินของเรา มันเหมือนปล้น”
เธอยังเห็นว่าการที่ผู้นำสหรัฐฯ หายจากการติดเชื้อโคโรนาไวรัสได้เร็วแม้เขาจะมีปัจจัยเสี่ยง ทั้งอายุที่ค่อนข้างมากและมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ ทำให้คนกล้าออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านกันมากขึ้น
“ดิฉันไม่ค่อยเชื่อเรื่องใส่หน้ากาก แต่เขาให้ใส่ ดิฉันก็ใส่ แต่ตั้งแต่โควิดมา ดิฉันก็เดินทางไปหลายรัฐ นอนโรงแรม ก็ยังอยู่ถึงทุกวันนี้ ถ้า[ไวรัส]แรงจริงๆ ป่านนี้ดิฉันไปแล้ว สงสารบางรัฐที่เขากลัวมากจนทำให้ธุรกิจกระทบเยอะ ไม่มีลูกค้า”
“[การที่ประธานาธิบดี] หายไวมาก ทำให้ทุกคนมั่นใจในการออกมาใช้ชีวิตปกติ มาใช้จ่ายเงิน ทำให้คนที่ประกอบธุรกิจขนาดเล็กได้หายใจ ได้ลูกค้ากลับมา เขาก็ได้ดำเนินชีวิตตามปกติของเขา มีรายได้ของเขา ถ้าทรัมป์ยิ่งป่วยหนัก การล็อคดาวน์ก็จะหนักขึ้นเรื่อยๆ ทุกคนก็ไม่กล้าออก เราก็ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ” ศิริรัตน์กล่าว พร้อมเสริมว่า เธอเองก็ไม่ได้เชื่อในประสิทธิภาพของวัคซีน และ “ถ้ามีก็คงไม่ฉีด” เพราะเธอคิดว่าตนเองมีภูมิคุ้มกันหมู่ระดับชุมชน (herd immunity) อยู่แล้ว
ทางด้านทิพวรรณ แกมโบจี้ ชาวไทยเกษียณอายุวัย 58 ปี ในเมืองเพรสคอตต์ รัฐแอริโซนา ก็เห็นว่าการจัดการการระบาดของไวรัสของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ “จัดการได้ดีมาก” โดยเธอให้เหตุผลของการให้เงินสนับสนุนจากรัฐบาลกลางเพื่อรับมือกับการระบาด ไปจนถึงการตรวจหาผู้ติดเชื้อไวรัสอย่างทั่วถึง “ทำให้สหรัฐฯ มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูง เพราะสามารถตรวจหาผู้ติดเชื้อได้มาก”
ทิพวรรณสนับสนุนพรรคริพับลิกัน เนื่องจากเห็นว่าพรรคปกป้อง “คุณค่าของความเป็นสหรัฐอเมริกา” อย่างเช่นการให้ความสำคัญกับบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ฉบับที่ 1 ที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ฉบับที่ 2 ที่คุ้มครองสิทธิพลเมืองให้ครอบครองและพกพาอาวุธได้
ในมุมมองของทิพวรรณผู้อาศัยอยู่ที่สหรัฐฯ มากว่า 12 ปี การที่ประชาชนมีสิทธิพกพาอาวุธ เช่น ปืน ได้ เสมือนเป็นการรับรองว่าประชาชนมีอำนาจปกป้องตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาการคุ้มครองจากรัฐเพียงฝ่ายเดียว และยังเป็นการให้อำนาจกับประชาชนในการต่อรองกับภาครัฐที่มีกองกำลังอาวุธอยู่ในมือได้
เธอยังเห็นว่า พรรคริพับลิกันและประธานาธิบดีทรัมป์มีบุคลิกแบบ “พูดตรงๆ” ที่เธอเห็นว่าตรงกับการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ตามบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ฉบับที่ 1
“ดิฉันไม่มีปัญหากับคำว่า China Virus ของประธานาธิบดีทรัมป์ ก็ไวรัสนี้มาจากจีนนี่คะ” เธอกล่าว “ทุกวันนี้พูดอะไรก็ไม่ได้ มีแต่ political correctness จะต้องแก้กันทุกอย่าง ที่พูดนี่ผิดหมด นั่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ คนอเมริกันจากแต่เดิมที่กล้าแสดงความเห็น กลายเป็นกลัวว่าพูดอะไรไปแล้วจะผิด”
Political Correctness ที่ทิพวรรณกล่าว คือ “ความถูกต้องทางการเมือง” หรือการใช้ภาษาหรือแสดงความคิดเห็นเพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความขุ่นเคืองต่อผู้อื่นทั้งทางเพศ เชื้อชาติ วัฒนธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคเดโมแครตที่มีจุดยืนคุ้มครองกลุ่มคนหลากหลายในสังคมให้ความสำคัญ แต่ทิพวรรณกลับเห็นว่าพรรคเดโมแครตไม่ควรผูกขาด “ความเท่าเทียม” ไว้ที่พรรคของตน
“ตูน” พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินชาวไทยในเมืองพิตส์เบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย มีพื้นฐานชีวิตที่หลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม เธอเป็นคนไทยที่ย้ายไปอยู่เยอรมนีพร้อมแม่และพ่อเลี้ยงที่เป็นคนผิวดำตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น เมื่อเธอเติบโตขึ้น เธอก็ย้ายมาทำงานที่สหรัฐฯ พร้อมลูกชาย แต่ต่อมาลูกชายก็กลับไปศึกษาที่เยอรมนี
แม้จะมีความหลากหลายในครอบครัว แต่ครอบครัวของเธอกลับไม่เชื่อในการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของคนผิวดำ หรือ Black Lives Matter เพราะมองว่า เป็นการใช้ความเป็นทาสที่ถูกยกเลิกมาแล้วตั้งแค่ปีค.ศ.1865 เป็นเหตุผลในการเรียกร้องสิทธิต่างๆ โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับอาชญากรรมที่ตูนมองว่า ไม่ว่าจะเป็นคนผิวสีใดที่ก่ออาชญากรรมก็ควรเข้าสู่กระบวนการเหมือนกัน ไม่ควรมีสิทธิพิเศษใดๆ
“คุณพ่อเล่าให้ฟังว่า คุณแม่ของท่านขยันทำงาน พยายามส่งลูกทุกคนให้เรียนสูงๆ ทุกคน ตระกูลของพ่อจบการศึกษาสูงทุกคนทั้งที่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวย เขาบอกว่ามันอยู่ที่การทำของตัวเราเอง พ่อไม่เคยบอกว่าเขาเคยเป็นทาสมาก่อน พ่อบอกว่าให้เรียนสูงๆ ถ้าอยากให้คนเคารพเรา ทำตัวเองให้น่านับถือ แล้วจะมีคนนับถือทั้งนั้น” เธอกล่าวถึงคุณพ่อเลี้ยงผิวดำของเธอ
สำหรับ “ฝน” ผู้ประกอบการธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพชาวไทยในนครดิมอยน์ รัฐไอโอวา วัย 38 ปี ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหว Black Lives Matter เนื่องจากการเคลื่อนไหวดังกล่าวจุดชนวนให้เกิดการประท้วงและการบุกรุกทำลายอาคารสถานที่ อนุสาวรีย์ต่างๆ ซึ่งตัวของฝนเองให้ความสำคัญกับการใช้กฎหมายและกฎระเบียบ
"การมีโควตาพิเศษให้คนผิวดำ ไม่ใช่การเหยียดเชื้อชาติ[อื่นๆ] หรือ?” เธอกล่าว “‘ความฝันอเมริกัน’(American dream) ที่พวกเรารู้จัก หมายความว่าถ้าเราทำงานมาก เราก็จะได้สิ่งที่เราสมควรจะได้ แต่ถ้าเป็นแบบนี้ คนสีผิวอื่นๆ เช่นคนเอเชียหรือคนขาว ก็จะมีความสำคัญน้อยกว่าคนผิวดำ ดิฉันคิดว่าประธานาธิบดีทรัมป์ให้ความสำคัญกับทุกคนเท่าเทียมกัน ดิฉันเลยคิดว่าตัวเองเอนเอียงไปทางเขามากกว่าอีกฝั่งที่ดิฉันรู้สึกว่าเขานำความเป็นคนผิวดำมาใช้ประโยชน์มากกว่า”
ฝนยอมรับว่าตัวเองเป็นคน “ขี้กลัว” และไม่อยากให้ตัวเองตกอยู่ในอันตราย จึงให้ความสำคัญกับการรักษากฎหมายและระเบียบ และไม่เห็นด้วยกับนโยบายลดงบประมาณของตำรวจที่ทางพรรคเดโมแครตเสนอ
อีกหนึ่งนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่เธอเห็นว่า “มีความเป็นผู้นำสูง ไม่พูดเสแสร้ง รักชาติ” คือ การดำเนินนโยบายต่างประเทศในแถบตะวันออกกลาง ที่เธอมองว่า ทำให้เธอลดความกังวลที่สหรัฐฯ จะถูกโจมตีจากกลุ่มผู้ก่อการร้ายจากบริเวณดังกล่าวลงไปได้
และท้ายสุด ปัญญา ฉั่ว ชาวไทยที่ทำงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในรัฐเวอร์จิเนียตอนเหนือ มีจุดยืนชัดเจนว่าเขาเป็นสายอนุรักษ์นิยม ไม่สนับสนุนการทำแท้ง และสนับสนุนรัฐบาลที่ใช้งบประมาณไม่มากและมีบทบาทน้อยในการกำหนดกฎระเบียบต่างๆ
“ผมชอบที่ประธานาธิบดีทรัมป์มีนโยบายลดภาษีและลดกฎระเบียบ [ด้านภาษี] ต่างๆ ซึ่งเป็นผลดีต่อธุรกิจขนาดเล็ก...ผมหวังว่าการลดภาษีจะช่วยให้เราฟื้นฟูเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติได้ด้วย” ปัญญากล่าว “ชาวเอเชียนอเมริกันหลายคนก็เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กเหมือนครอบครัวของผม นโยบายด้านนี้จึงจะช่วยชาวเอเชียนอเมริกันไปด้วย”
ปัญญาเป็นอีกคนที่เห็นด้วยกับสิทธิในการครอบครองอาวุธของประชาชนและเห็นด้วยกับการบังคับใช้กฎหมายและระเบียบ “เราไม่อยากลดงบประมาณของตำรวจแล้วเห็นอัตราการก่ออาชญากรรมสูงขึ้นหรอกนะครับ” คุณพ่อลูกสองกล่าว