ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สำรวจเหตุผลคนไทยในสหรัฐฯ ต้องการเลือก “โจ ไบเดน” เป็นผู้นำสหรัฐฯ คนต่อไป


Thai-American campaigner Jerry Raburn (right) with Democrat presidential candidate Joe Biden (left)
Thai-American campaigner Jerry Raburn (right) with Democrat presidential candidate Joe Biden (left)

รายงานชิ้นนี้เป็นตอนแรกของซีรีส์รายงานพิเศษเหตุผลของคนไทยในสหรัฐฯ ต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยตอนต่อไปจะเป็นเหตุผลของคนไทยที่สนับสนุนพรรคริพับลิกัน

“ความคาดหวังต่อการรับมือการระบาดของไวรัสโควิด-19 นโยบายผู้อพยพ การยอมรับความหลากหลายทางเชื้อชาติมากขึ้น การยอมรับบุคคลข้ามเพศ” เป็นประเด็นสำคัญที่คนไทยในสหรัฐฯ ที่พูดคุยกับวีโอเอไทย ต้องการสนับสนุนให้โจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต เป็นผู้ครองเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ แทนที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

Thai Diaspora US Elections Pt 3 Democrat Voters
please wait

No media source currently available

0:00 0:05:59 0:00


อาชวี ธรรมวาสี ชาวไทยในเขตการปกครองคุก เคานท์ตี้ รัฐอิลลินอยส์ เป็นบุคลากรที่ทำงานในด้านการศึกษาในฐานะอาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยไทรทัน และเป็นคุณแม่ของลูกสาวเชื้อสายไทยสองคนที่เรียนอยู่ในระดับมัธยม

เธอคาดหวังว่านโยบายด้านสังคมของพรรคเดโมแครตจะช่วยสนับสนุนและเติมเต็มชีวิตของนักเรียนที่เป็นบุตรหลานผู้อพยพ รวมถึงบุตรหลานของผู้อพยพที่ไม่ได้เข้าประเทศอย่างถูกกฎหมาย รวมถึงสวัสดิการสำหรับกลุ่มนักเรียนที่เป็นคนชายขอบ เช่นนักเรียนที่มีฐานะยากจน

อาชวียังมองในมุมมองฐานะอาจารย์ด้วยว่า กระแสความแตกแยกในสังคมที่เธอมองว่าเป็น “สงครามทางวัฒนธรรมมากกว่าด้านสังคมและเศรษฐกิจ”ที่เพิ่มขึ้นในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา ยังส่งผลต่อบรรยากาศการเรียนรู้ในห้องเรียน

Communication professor Archawee Dhamavasi (center) with her daughters. They live in Lincolnwood, Illinois
Communication professor Archawee Dhamavasi (center) with her daughters. They live in Lincolnwood, Illinois

“ดิฉันเป็นอาจารย์สอนการพูดในที่สาธารณะ พอมาเจอประธานาธิบดีที่บางครั้งพูดจริง บางครั้งพูดไม่จริง บางครั้งพูดเอากระแส หลักการพูดสาธารณะที่ดิฉันสอนไปแทบไม่มีความหมาย เพราะคนที่พูดโดยไม่ได้ใช้หลักการนี้แล้วมาเป็นประธานาธิบดีได้ ดิฉันก็ไม่รู้จะอธิบายให้ลูกศิษย์หรือแม้แต่ลูกของดิฉันเองยังไง”

“เราสอนให้เขาเป็นคนดี พูดความจริง ทุกอย่างต้องมีเหตุผล แต่ประธานาธิบดีที่เรามีอยู่ตอนนี้เค้าไม่ตามกฎตรงนั้นเลย เราเป็นอาจารย์เราก็ไม่รู้จะอธิบายให้ลูกศิษย์ยังไงว่า กฎพวกนี้สำคัญนะในการใช้ชีวิต การที่เรารับฟังคนอื่น การที่เราเปิดใจสนทนา ตรงนี้เป็นจุดสำคัญ ถ้าหากการพูดคุยด้วยการเปิดใจและเคารพซึ่งกันและกันไม่ได้ ดิฉันว่ามันจะเป็นปัญหาในอนาคต ซึ่งตอนนี้เราก็เห็นความรุนแรงที่มากขึ้นจากการที่คนไม่เคารพความต่างกัน” อาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์กล่าว

ทางด้านชาคริต อาชวอำรุง คนไทยในเมืองปอมปาโน บีช รัฐฟลอริดา เรียกตัวเองว่าเป็น “ฟรีแลนซ์” ขับรถส่งอาหาร แต่ความจริงแล้วเป็นการหารายได้ทดแทนในช่วงที่เขาตกงานจากงานประจำมาตั้งแต่เดือนมีนาคม เนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19

“โควิดมันกระทบใจผมมากเป็นพิเศษ หนึ่งเพราะทำให้ผมตกงาน สองคือทำให้เราไม่กล้าไปเยี่ยมพ่อแม่ คุณแม่อยู่ที่ไทย คุณพ่ออยู่ที่รัฐอื่น ตอนนี้จะกลับไปไทยก็ลำบากเพราะติดเรื่องโควิด จะไปเยี่ยมคุณพ่อที่รัฐอื่นก็ไม่กล้าเพราะโควิดถึงเราไม่มีอาการแต่ก็แพร่เชื้อได้แล้ว ถ้าเราขับรถไปเยี่ยมคุณพ่อ พ่อผมก็อายุ 76 แล้ว ก็เป็นกลุ่มเสี่ยง ถ้าเราไม่รู้ เราไปเยี่ยมท่าน เกิดเราเอาเชื้อโรคไปติดท่าน ท่านถึงแก่กรรมขึ้นมาก็แย่อีก” เขากล่าว

Chakrit Achava Amrung, a Thai-American living in Pompano Beach, Florida
Chakrit Achava Amrung, a Thai-American living in Pompano Beach, Florida

การรับมือกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงเป็นประเด็นแรกๆ ที่เขาให้ความสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกตั้ง โดยในมุมมองของเขา ผู้นำสหรัฐฯ ที่จะนำการจัดการไวรัสอย่างมีประสิทธิภาพได้ จะต้องเป็นคนที่สามารถประสานงานได้กับทุกองค์กร

“ลักษณะเด่นของโจ ไบเดน คือเขาเป็นคนที่ยินดีรับฟัง ยินดีประนีประนอม ถ้าดูประวัติการออกเสียงของเขา เขาจะบางทีก็ไปขวา บางทีก็ไปซ้าย ซึ่งคนที่ไม่ชอบก็บอกว่าเขาเป็นคนที่ไม่มีหลักการ เป็นคนพลิกไปพลิกมา แต่ผมมองว่าเขายอมที่จะประนีประนอมเพื่อให้เกิดผลสำเร็จไปข้างหน้าได้”

“ระบบของอเมริกันมันต้องคุยกัน เป็นระบบประชาธิปไตย ไม่ใช่ระบบเผด็จการที่จะสั่ง ไบเดนเขาเป็นคนยินดีที่จะคุย และเขาเป็นคนยินดีที่จะรับฟัง ยินดีที่จะเอาข้อเสนอที่มันใช้ได้ดีมาปรับใช้ ไบเดนไม่ได้ยึดติดเรื่องอุดมการณ์มาก เขาเน้นว่ามีปัญหาแล้วจะต้องแก้ก่อน” เขากล่าวสำทับถึงท่าทีความเป็น “ซ้ายกลาง” ของไบเดนที่เขามองว่าเป็นจุดแข็ง

ทางด้านพลอยส่อง ชัยชูโชติ แชปแมน นายหน้าอสังหาริมทรัพย์ชาวไทยในเมืองซีราคิวส์ รัฐนิวยอร์ก เธอใช้ชีวิตที่สหรัฐฯ มาแปดปีแล้วกับสามี ลูกสาวหนึ่งคน และคุณแม่ที่กำลังทำเรื่องขอเป็นผู้พำนักถาวรในสหรัฐฯ

พลอยส่องบอกว่า ขั้นตอนการขอเป็นผู้พำนักถาวรของคุณแม่ในปัจจุบัน มีข้อแม้และขั้นตอนมากกว่าในสมัยประธานาธิบดีคนก่อนหน้านี้ ด้วยเหตุผลนี้บวกกับอุดมการณ์ทางการเมืองของเธอ ทำให้พลอยส่องต้องการเลือกพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งครั้งแรกของเธอที่กำลังจะมาถึงนี้

“เราไม่ควรต้องมาเครียด กังวล ว่าคนที่มีสายเลือดเดียวกับเราจะมาอยู่กับเราได้หรือไม่ ทั้งที่เราไม่เคยขอบัตรอาหาร ไม่เคยขอความช่วยเหลือจากรัฐ เราไม่เคยประกาศล้มละลาย มันก็ไม่ควรที่จะมีปัญหา แต่ก็ยังมีปัญหา”เธอกล่าว

Thai real estate agent Ploysong Chaichoochote Chapman (second from right) with her family. They live in Syracuse, New York
Thai real estate agent Ploysong Chaichoochote Chapman (second from right) with her family. They live in Syracuse, New York

“ในช่วงปลายปี รัฐบาลปัจจุบันออกกฎใหม่ ซึ่งมีเอกสารเพิ่มในขั้นตอนการยื่นเรื่องขอเป็นผู้พำนักถาวรในสหรัฐฯ ของคุณแม่ โดยเอกสารที่เพิ่มมาจะต้องระบุด้วยว่า คุณทำงานที่นี่ได้รึเปล่า คุณมีความสามารถอะไรบ้าง สามารถทำงานหาเงินโดยไม่ต้องรับการช่วยเหลือจากรัฐได้หรือไม่...ด้วยความที่คุณแม่อายุมาก เกษียณแล้ว มันก็ไม่มีคนอยากจ้างแม่เราทำงาน เราจึงต้องเอาเงินของเรา เอาเงินของสามี เอาข้อมูลส่วนตัว ซึ่งในความคิดแบบบอเมริกันมันเป็นสิทธิความเป็นส่วนตัวของเรา แต่ต้องเปิดเผยให้รัฐบาลว่าเราทำงาน มีเงิน สามารถสนับสนุนแม่เราในการที่จะมาอยู่ที่นี่ได้้”

ส่วนเจอร์รี่ ราเบิร์น ลูกครึ่งไทย-อเมริกันในนครลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ผู้ก่อตั้งกลุ่มเฟซบุ๊กสำหรับคนไทยในสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนโจ ไบเดน ให้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไป เป็นอีกคนที่ต้องตกงานในช่วงการระบาดของไวรัส ทำให้เขาให้ความสำคัญกับประเด็นการระบาดของไวรัสและการจ้างงาน

“รัฐบาลปัจจุบันให้เงินอุดหนุนพิเศษแก่ผู้ตกงาน รวมถึงให้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจแก่ประชาชน ทำให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญที่เราต้องการคือการที่เราสามารถกลับไปทำงานอย่างปลอดภัยได้ ตอนนี้มีผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดเป็นจำนวนมาก เราต้องการมาตรการควบคุมการระบาดของไวรัสที่มีประสิทธิภาพ เพื่อที่เราจะได้ทำงานและสามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้”


“แม่ของผมอายุ 60 ปีแล้ว ถ้าผมกลับบ้านมา แพร่เชื้อให้แม่ คุณแม่อาจเสียชีวิตได้ และผมทำแบบนั้นไม่ได้” ราเบิร์นกล่าว

Jerry Raburn, a Thai-American campaigner for Joe Biden's presidency living in Los Angeles, California
Jerry Raburn, a Thai-American campaigner for Joe Biden's presidency living in Los Angeles, California


ในมุมมองของราเบิร์น เขาเชื่อมั่นว่าไบเดนจะทำให้การเข้าถึงบริการทางสาธารณะสุขได้มากขึ้น ผ่านกฎหมาย Affordable Care Act ฉบับที่ไบเดนนำเสนอ “ไบเดนต้องการให้การบริการด้านสุขภาพเป็นสิทธิ์พื้นฐานที่ทุกคนเข้าถึง การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขเป็นสิ่งพื้นฐานที่สำคัญมาก ผู้คนไม่ควรต้องตายเพราะเข้าไม่ถึงประกันสุขภาพ ไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาล [ประกันสุขภาพ] ยังสำคัญมากต่อชนกลุ่มน้อย คนชายขอบในสังคม เช่น ชาวเอเชียนอเมริกันและชาวแอฟริกันอเมริกัน”ราเบิร์นกล่าว

แมท เมอร์แมค คนขับรถขนส่งกึ่งสาธารณะชาวไทย-อเมริกัน ในเมืองเออร์ไวน์ รัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า เขาให้ความสำคัญกับประเด็นด้านการรับมือกับยาเสพติด รวมถึงการเปิดพื้นที่ต่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศในฐานะที่เขาเป็นพ่อของบุตรชายข้ามเพศ

“ผมเพิ่งฉลองครบรอบ 27 ปีที่ผมฟื้นตัวจากการติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาเสพติดได้” เมอร์แมคกล่าว “ย้อนไปเมื่อปีค.ศ.1993 ตอนนั้นผมเข้าไม่ถึงการประกันสุขภาพและการรักษาที่ดีพอ...ตอนนี้เรามีพัฒนาการแล้วนับตั้งแต่เริ่มมีการทำให้กัญชาถูกกฎหมายเมื่อปีค.ศ. 2016 แต่เรายังทำได้ดีกว่านี้”

Matt Mirmak, a Thai-American paratransit taxi driver living in Irvine, California
Matt Mirmak, a Thai-American paratransit taxi driver living in Irvine, California

เมอร์แมคคาดหวังว่า นโยบายของพรรคเดโมแครตภายใต้การนำของไบเดน จะทำให้ผู้ติดยาเสพติดเข้าถึงการบำบัดรักษาได้มากขึ้น “สิ่งสำคัญคือ เราต้องทำให้การติดยาเสพติดเป็นประเด็นด้านสาธารณสุขมากกว่าประเด็นด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญา หากเป็นเช่นนั้น ผู้ติดยาจะกล้าเข้าสู่กระบวนการมากขึ้น คนจะตายน้อยลง” เขากล่าว “เรายังควรให้การศึกษาด้านยาเสพติดเชิงวิทยาศาสตร์มากขึ้น”

“ไบเดนมีท่าทีที่เปิดรับ รับฟัง เข้าใจปัญหาของผู้ที่มีความแตกต่างมากกว่า ผมจึงหวังว่าไบเดนจะช่วยแก้ปัญหายาเสพติดได้ดี”

สำหรับเรื่องประเด็นการปฏิบัติต่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศนั้น เมอร์แมค ผู้มาจากครอบครัวนายทหารกล่าวว่า อย่างน้อยเขาหวังว่าไบเดนจะยกเลิกการห้ามบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ให้รับราชการทหารที่มีอยู่ในปัจจุบัน

“ผมก็ไม่แน่ใจว่าลูกชายข้ามเพศของผมอยากรับราชการทหารรึเปล่า แต่ผมก็อยากให้มันเป็นหนึ่งในทางเลือกของลูกผมด้วย แต่ไม่ว่าจะเป็นงานด้านทหารหรืองานอื่นๆ ผมไม่อยากให้ลูกผมถูกกีดกัน ผมอยากให้ลูกของผมได้รับเกียรติเช่นเดียวกับคนอเมริกันอื่นๆ” เขากล่าว

XS
SM
MD
LG