คณะบริหารธุรกิจของมหาวิทยาลัย อิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน ใช้เทคโนโลยีการสร้างภาพโฮโลแกรมในการเลคเชอร์นักศึกษาในห้องเรียน เชื่อว่านี่เป็นครั้งเเรกที่มีการใช้งานเทคโนโลยีนี้ในระบบการเรียนการสอน
ภาพโฮโลแกรมของ Marily Nika ผู้จัดการด้านผลิตภัณฑ์แห่งบริษัทกูเกิล จากรัฐเเคลิฟอร์เนีย ถูกฉายไปที่บนเวที
David Lefebvre ผู้อำนวยการ EdTech Lab ของคณะบริหารธุรกิจของมหาวิทยาลัย อิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน กล่าวว่า เทคโนโลยีนี้ช่วยย่อโลก ช่วยให้ศาสตราจารย์และอาจารย์สามารถสอนหนังสือเเก่นักศึกษาได้แม้จะอยู่ห่างออกไปค่อนโลก โดยภาพของอาจารย์จะปรากฏตรงหน้านักศึกษาในลักษณะเหมือนจริง ซึ่งจุดนี้มีความสำคัญมาก
Rory Elliott แห่ง ARHT Media ผู้พัฒนาเทคโนโลยีนี้ อธิบายว่าระบบโฮโลแกรมที่พัฒนาขึ้นเสนอภาพสองมิติให้ออกมาเป็นภาพสามมิติที่มีทั้งความสูง ความกว้างเเละความลึก ม่านตาของคนเรามีลักษณะเเบนทำให้ตามองเห็นภาพเป็นแบบสองมิติ เเต่สมองจะปรับภาพที่มองเห็นให้เป็นภาพสามมิติ เทคโนโลยีโฮโลแกรมก็ใช้เทคนิคเดียวกันนี้โดยเสนอภาพสองมิติ เเต่เมื่อคนมองดูจะเห็นเป็นภาพ 3 มิติ
บรรดาผู้เข้าชมการสาธิตการใช้งานต่างบอกว่า เทคโนโลยีนี้มีประโยชน์ต่อทั้งอาจารย์เเละนักศึกษาหลายด้านด้วยกัน
ขณะเดียวกัน Josephine Collin นักศึกษาปริญญาโทบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัย อิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน กล่าวว่า ชอบการสอนผ่านระบบโฮโลแกรมมากกว่าผ่านทางออนไลน์
เธอกล่าวว่าเทคโนโลนีนี้จะช่วยให้การเรียนน่าสนใจมากขึ้น เพราะนักศึกษาจะมีโอกาสได้เรียนจากอาจารย์หลายๆ คน และผู้รับเชิญบรรยายมากหน้าหลายตา
ผู้พัฒนาเทคโนโลยีโฮโลแกรม กล่าวว่า ราคาของเทคโนโลยีนี้ได้ลดลงมาพอสมควร ตั้งเเต่เริ่มมีการใช้งานในรายการแสดงดนตรีที่มีงบประมาณสูง ทำให้เป็นไปได้ที่สถาบันการศึกษาสามารถนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้งานได้
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)