ในอดีตเราเคยกังวลถึงแรงกดดันจากเพื่อนฝูง หรือ peer pressure แต่ในอนาคตอันใกล้ เด็กและเยาวชนอาจตกอยู่ในความเสี่ยงใหม่ ที่ “หุ่นยนต์” จะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของพวกเขาได้ง่ายขึ้น
การวิจัยจากมหาวิทยาลัย Plymouth ของอังกฤษ บ่งชี้ว่า สังคมยุคดิจิทัล กำลังเกิดแรงกดดันใหม่ให้กับเด็กและเยาวชน เมื่อผู้ที่มีอิทธิพลกับพวกเขา ไม่ใช่แค่พ่อแม่ ครู ผู้ใหญ่ หรือเพื่อนฝูงเพียงอย่างเดียว แต่ต่อไปนี้ หุ่นยนต์ อาจเข้ามามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของพวกเขาก็ได้
อาจารย์โทนี เบลเพเม อาจารย์ด้านวิทยาการหุ่นยนต์ ผู้เป็นหัวหน้าการศึกษาครั้งนี้ บอกว่า เราทราบดีว่าคนเราจะคล้อยตามความเห็นของคนที่เราคุ้นเคย ซึ่งเรียกกันว่าภาวะความเห็นพ้องต้องกัน แต่หากในอนาคตเรามีหุ่นยนต์เข้ามาอยู่ในบ้านหรือที่ทำงานมากขึ้น ทำให้เกิดคำถามว่าจะเรารู้สึกคุ้นเคยกับจักรกลเหล่านี้ จนหุ่นยนต์มีอิทธิพลต่อความคิดของพวกเขาได้หรือไม่?
ทีมวิจัยทำการศึกษาโดยใช้ภาวะการคล้อยตาม ที่เรียกว่า Asch Paradigm ของโซโลมอน แอช (Solomon Asch) นักจิตวิทยาสังคม เมื่อช่วงคริสตศตวรรธที่ 1950 มาทดสอบแรงกดดันทางสังคมจากคนรอบข้างที่ทำให้เกิดการคล้อยตามกัน ที่พบว่าคนเลือกจะเชื่อเพื่อนฝูง แม้ว่าจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องก็ตาม
แต่ในครั้งนี้ เปลี่ยนตัวแปรจากเพื่อนที่เป็นมนุษย์ มาเป็นหุ่นยนต์ และทดสอบทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
โดยให้เด็กอายุระหว่าง 7-9 ปี ที่ทำการทดลองนั่งอยู่คนเดียวในห้อง และให้ทำข้อสอบ ปรากฏว่า เด็กๆ สามารถทำคะแนนได้ร้อยละ 87
แต่เมื่อให้หุ่นยนต์หลายตัว เข้าไปอยู่ในห้องด้วย ปรากฏว่า คะแนนสอบของพวกเขาร่วงลงไปอยู่ที่ร้อยละ 75 และที่น่าตกใจก็คือ ร้อยละ 74 ของข้อสอบที่พวกเขาตอบผิดนั้น มาจากการชี้แนะของหุ่นยนต์ที่ใช้ทดสอบด้วย ขณะที่ไม่พบภาวะคล้อยตามหุ่นยนต์ของผู้ใหญ่ที่อยู่ในการทดสอบ
ทีมวิจัยพบว่าเด็กและเยาวชนมีความผูกพันใกล้ชิดกับหุ่นยนต์มากกว่าที่ผู้ใหญ่มี ซึ่งทำให้เกิดประเด็นคำถามต่อไปว่า จะเกิดอะไรขึ้นหากหุ่นยนต์เหล่านี้มีการพัฒนาไปถึงขั้นที่สามารถแนะนำสิ่งต่างๆให้เด็กได้ เช่น สินค้าที่ควรซื้อ หรือแม้กระทั่งสามารถควบคุมความคิดของเด็กว่าควรจะเป็นไปในทิศทางใด
โดยอาจารย์โนเอล ชาร์คกี ผู้อำนวยการ Foundation for Responsible Robotics บอกว่า การศึกษาครั้งนี้ได้ทำให้เกิดความตระหนักถึงการใช้หุ่นยนต์กับเด็กและเยาวชน เพราะหากหุ่นยนต์เหล่านี้สามารถโน้มน้าวจิตใจเด็กๆ ว่าข้อมูลที่ผิดเป็นสิ่งที่ถูกได้ อาจเป็นการสร้างปัญหาที่ใหญ่ขึ้น หากเราจะนำหุ่นยนต์มาใช้เป็นพี่เลี้ยงเด็กหรือเป็นครูสอนเด็ก
ในการศึกษาของมหาวิทยาลัย Plymouth ได้เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาการหุ่นยนต์ ตระหนักถึงผลกระทบทางสังคมที่จะเกิดขึ้นกับลูกหลานในอนาคต และหาทางป้องกันและลดความเสี่ยงของเยาวชนจากอิทธิพลของหุ่นยนต์ที่จะมีต่อพวกเขา
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักวิจัยต้องทดสอบต่อไปก็คือ เสียงที่มาจากหุ่นยนต์ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจของเด็กในการศึกษาครั้งนี้ หากเปลี่ยนเป็นเพียงเสียงจากคอมพิวเตอร์ ที่ไม่ใช่เป็นตัวหุ่นยนต์ให้เห็น จะให้ผลแบบเดียวกันหรือไม่?