ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สหรัฐฯ หันหลังให้กองกำลังของชาวเคิร์ดในซีเรีย - เกมนี้ใครได้ใครเสีย?


US Forces leave Syria
US Forces leave Syria
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:34 0:00

รัฐบาลสหรัฐได้เริ่มจัดทำแผนเพื่อถอนกำลังออกจากพื้นที่ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรียเมื่อราวหนึ่งปีที่แล้ว โดยเรื่องนี้เป็นไปตามคำประกาศหาเสียงของประธานาธิบดีทรัมป์ในการเลือกตั้งเมื่อสามปีก่อน ที่ต้องการให้สหรัฐพ้นจาก “สงครามที่ไม่มีวันจบสิ้น”

และกองกำลังของชาวเคิร์ดในซีเรียซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐในการช่วยกวาดล้างกองกำลังของกลุ่มรัฐอิสลามในซีเรีย ก็ดูเหมือนจะพอทราบเรื่องนี้ เพราะหัวหน้าตำรวจของกองกำลังชาวเคิร์ดในซีเรียเคยบอกกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่า ในที่สุดแล้วพวกตนคงไม่สามารถไว้ใจใครได้เลย

ขณะนี้ชาวเคิร์ดในซีเรียซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชาติพันธ์ที่ไม่มีประเทศของตนเอง ก็ดูจะไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากต้องหันไปจับมือเป็นพันธมิตรกับกำลังของฝ่ายรัฐบาลในซีเรียเพื่อรับมือกับภัยคุกคามที่สำคัญกว่า คือจากกองทัพตุรกี

ใครได้-ใครเสีย?

จากกรณีนี้ คุณลินด์ซีย์ นิวแมน นักวิเคราะห์ด้านตะวันออกกลางของหน่วยงานวิจัยชื่อ Chatham House ได้ชี้ว่า ผู้ที่อยู่ในฐานะต้องสูญเสียมากที่สุดคือ "นักรบชาวเคิร์ดในซีเรีย" ของกองกำลังที่มีชื่อว่า SDF ทั้ง ๆ ที่กลุ่มดังกล่าวมีบทบาทสำคัญช่วยสหรัฐในปฏิบัติการกวาดล้างกลุ่มรัฐอิลสามในซีเรีย

แต่นอกจากนั้น ผู้ที่สูญเสียจากเกมการเมืองระหว่างประเทศครั้งนี้ด้วยคือ "สหรัฐ" เพราะวอชิงตันกำลังถูกมองว่ายอมละทิ้งชาวเคิร์ดที่เป็นพันธมิตรเก่าของตนตามคำขอของตุรกี และต่อไปสหรัฐก็จะถูกตั้งคำถามว่าเป็นพันธมิตรที่น่าไว้ใจได้หรือไม่เพียงใด โดยเฉพาะจากพันธมิตรรายอื่นทั่วโลก เช่น นายฮวน กวัยโด้ ผู้นำฝ่ายค้านของเวเนซูเอลา ซึ่งสหรัฐต้องการให้ขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศแทนประธานาธิบดีมาดูโร เป็นต้น

สำหรับหนึ่งในผู้ที่ได้ประโยชน์จากความพลิกผันของสถานการณ์ครั้งนี้อย่างเห็นได้ชัดคือ "ตุรกี" เพราะรัฐบาลกรุงอังคาราบรรลุเป้าหมายที่ต้องการมานานเรื่องการสร้างเขตปลอดภัย หรือพื้นที่กันชนตามแนวพรมแดนทางใต้ที่ติดกับซีเรียที่ไม่มีกองกำลังของชาวเคิร์ดอยู่ เนื่องจากตุรกีมองว่า กลุ่มชาวเคิร์ดเป็นผู้ก่อการร้ายที่เชื่อมโยงกับชาวเคิร์ดผู้ก่อความไม่สงบในประเทศ

ทางด้าน "รัสเซีย" ซึ่งเพิ่งทำความตกลงกับตุรกีในการพบปะระดับผู้นำที่เมืองตากอากาศโซชิเมื่อวันอังคาร ก็เห็นได้ชัดว่าเป็นผู้ชนะจากความเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ครั้งนี้เช่นกัน เพราะนอกจากทหารของรัสเซียจะสามารถเข้าควบคุมที่ตั้งทางทหารของสหรัฐทางเหนือของซีเรียและลาดตระเวนในพื้นที่ดังกล่าวได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องมีการสู้รบจากการถอนตัวออกไปโดยสมัครใจตามคำสั่งของประธานาธิบดีทรัมป์แล้ว นักวิเคราะห์ยังมองด้วยว่าประธานาธิบดีปูตินกำลังมีบทบาทสูงขึ้นในฐานะคนกลางผู้ไกล่เกลี่ยและผู้ช่วยสร้างดุลอำนาจในตะวันออกกลาง

รวมทั้งยังประสบความสำเร็จ ในการดึงตุรกีซึ่งเป็นประเทศสมาชิกขององค์การนาโต้ให้เข้าไปมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับรัสเซียมากขึ้นด้วย

แต่สำหรับ "ซีเรีย" ซึ่งเป็นหนึ่งในสามประเทศที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการถอนกำลังทหารของสหรัฐ และชะตากรรมของกลุ่มชาวเคิร์ดนั้น นักวิเคราะห์ของสหรัฐ อย่างเช่น คุณแอนโทนี่ คอร์เดสแมน จาก Center for Strategic and International Studies กล่าวว่า ยังเร็วไปที่จะบอกว่าซีเรียได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ เพราะถึงแม้กองกำลังของฝ่ายรัฐบาลซีเรียจะสามารถเข้าควบคุมพื้นที่ซึ่งเดิมเป็นของกองกำลังชาวเคิร์ดก็ตาม แต่ในระยะยาวแล้ว นักวิเคราะห์ผู้นี้เชื่อว่าโอกาสที่ซีเรียจะมีความสงบสุขหรือปลอดจากการสู้รบนั้นยังอยู่อีกไกล

และซีเรียยังคงต้องตกอยู่ใต้อิทธิพลครอบงำของรัสเซียกับอิหร่าน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อไปเช่นกัน

XS
SM
MD
LG