ตุรกีเริ่มส่งกำลังและยิงโจมตีที่มั่นของชาวเคิร์ดซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรีย หลังจากที่สหรัฐถอนกำลังออกไป เนื่องจากรัฐบาลกรุงอังการามองว่าชาวเคิร์ดในซีเรียเป็นผู้ก่อการร้าย
แต่นักวิเคราะห์ในโลกอาหรับกลับมองว่า การตัดสินใจของรัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์ครั้งนี้เป็นการหักหลังชาวเคิร์ดซึ่งเคยเป็นพันธมิตรอย่างเหนียวแน่นและร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับกองกำลังสหรัฐ เพื่อผลักดันนักรบของกลุ่มรัฐอิสลามหรือ IS ออกจากที่มั่นในซีเรีย
โดยนายโอซามา อัล ชารีฟ นักวิเคราะห์ในจอร์แดน ให้ตัวเลขว่าปฏิบัติการดังกล่าวมีกองกำลังชาวเคิร์ดเสียชีวิตไปถึงราว 11,000 คน ในขณะที่ไม่มีการสูญเสียของฝ่ายสหรัฐเลย
นักวิเคราะห์ผู้นี้ยังชี้ด้วยว่า สำหรับพันธมิตรต่าง ๆ ของสหรัฐในตะวันออกกลาง นโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ครั้งนี้ส่งสัญญาณที่น่ากังวลว่า ไม่มีใครสามารถพึ่งพาความช่วยเหลือจากสหรัฐได้หากต้องการ และว่าตัวอย่างของเรื่องนี้เกิดกับซาอุดิอาระเบียเช่นกันเมื่อแหล่งน้ำมันดิบในประเทศถูกโจมตี แต่ก็ไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างแข็งขันจากสหรัฐ
นายโอซามา อัล ชารีฟ นักวิเคราะห์ด้านตะวันออกกลางยังชี้ด้วยว่า เป็นเรื่องน่าตกใจที่ประธานาธิบดีทรัมป์ละทิ้งกลุ่มชาวเคิร์ดในซีเรียโดยไม่พิจารณาถึงความเสียสละที่กองกำลังดังกล่าวได้ทำไว้เพื่อช่วยกำจัดกลุ่มรัฐอิสลาม
นอกจากกลุ่มชาวเคิร์ดแล้วนายบัสซาม อิสแชค ผู้นำทางการเมืองคนหนึ่งของซีเรียก็เสริมว่า กลุ่มชาวคริสต์ในซีเรียซึ่งได้ร่วมรบกับชาวเคิร์ดในการผลักดันกองกำลังรัฐอิสลามก็รู้สึกว่าพวกตนถูกทรยศหักหลังโดยสหรัฐเช่นกัน
เมื่อวันอังคาร ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ปกป้องการตัดสินใจที่ถอนกำลังทหารสหรัฐออกจากทางเหนือของซีเรีย ว่าไม่ได้เป็นการละทิ้งชาวเคิร์ดให้ถูกกวาดล้างโดยตรุกี และว่าชาวเคิร์ดนั้นเป็นคนพิเศษ รวมทั้งเป็นนักรบชาวชั้นเลิศด้วย
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ยังเกรงว่าชาวเคิร์ดอาจจะไม่สามารถควบคุมตัวนักโทษของกลุ่มรัฐอิสลามได้ต่อไป หากถูกกองกำลังของตรุกีรุกไล่โจมตี ถึงแม้ประธานาธิบดีทรัมป์จะเตือนว่ารัฐบาลกรุงอังการามีความรับผิดชอบ และต้องทำให้แน่ใจว่านักรบของกลุ่มรัฐอิสลามที่ถูกจับกุมตัวทั้งหมดต้องไม่มีโอกาสหนีรอดออกมาได้ และกลุ่มรัฐอิสลามต้องไม่สามารถก่อตั้งขึ้นใหม่ในซีเรียด้วย
นอกจากนั้น ประธานาธิบดีทรัมป์ยังได้กล่าวยกย่องตุรกี รวมทั้งเชิญให้ประธานาธิบดีเออร์โดกวานของตุรกีไปเยือนทำเนียบขาว ในกลางเดือนพฤศจิกายนด้วย