การศึกษาของสำนักงานมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือ NOAA ที่ตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Science Advances ได้เชื่อมโยงการเปลี่ยนแปลงของมลพิษทางอากาศกับกิจกรรมพายุในระดับภูมิภาคทั่วโลก พบว่า อนุภาคและละอองแขวนลอยของมลพิษที่ลดลง 50% ในยุโรปและสหรัฐฯ มีความเชื่อมโยงกับการก่อตัวของพายุในมหาสมุทรแอตแลนติกที่เพิ่มขึ้น 33% ในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ในขณะเดียวกันกับที่มหาสมุทรแปซิฟิกกลับมีระดับมลพิษเพิ่มมากขึ้นและมีพายุไต้ฝุ่นน้อยลง
ฮิโรยูกิ มูราคามิ นักวิทยาศาสตร์ด้านพายุเฮอร์ริเคนของ NOAA ได้ใช้คอมพิวเตอร์จำลองสภาพอากาศจำนวนมากเพื่ออธิบายการเปลี่ยนแปลงของกิจกรรมพายุตามส่วนต่าง ๆ ของโลกที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยวงจรสภาพอากาศตามธรรมชาติ และพบว่า การเปลี่ยนแปลงของกิจกรรมพายุนั้นมีความเชื่อมโยงกับละอองมลพิษจากอุตสาหกรรมและรถยนต์ ซึ่งเป็นอนุภาคและละอองกำมะถันในอากาศที่ทำให้ยากแก่การมองเห็นและการหายใจ
นักวิทยาศาสตร์ทราบมานานแล้วว่า ละอองมลพิษทำให้อากาศเย็นลง พร้อม ๆ กับลดผลกระทบของก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยการศึกษาก่อนหน้านี้ เชื่อว่า ละอองมลพิษเป็นตัวที่น่าจะทำให้เกิดพายุในมหาสมุทรแอตแลนติกบ่อยขึ้น แต่มูราคามิ พบว่า ละอองมลพิษ คือ หนึ่งในปัจจัยและมีความเชื่อมโยงโดยตรง
ทั้งนี้ ระดับมลพิษจากละอองแขวนลอยในมหาสมุทรแอตแลนติกที่สูงที่สุด คือเมื่อราว ๆ ปี 1980 และลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นั่นหมายถึง ความเย็นที่บดบังความร้อนจากก๊าซเรือนกระจกบางส่วนกำลังจะหมดไป ดังนั้น อุณหภูมิผิวน้ำทะเลจึงเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ยิ่งไปกว่านั้น การขาดละอองความเย็นได้ช่วยผลักให้ Jet Stream หรือแถบกระแสลมแรงที่เคลื่อนสภาพอากาศจากฝั่งตะวันตกไปตะวันออกบนเส้นทางที่เหมือนกับรถไฟเหาะให้ไปทางเหนือมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดแรงลมเฉือนที่ส่งผลต่อการก่อตัวของพายุเฮอร์ริเคน
จิม คอสซิน (Jim Kossin) นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศและเฮอร์ริเคนจากบริษัท The Climate Service กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นสาเหตุที่ทำให้มหาสมุทรแอตแลนติกเกิดพายุเฮอร์ริเคนอย่างรุนแรง ตั้งแต่กลางคริสต์ทศวรรษที่ 1990 แต่กลับเงียบสงบมากในช่วงปี 1970 และ 1980 ขณะที่ ผู้คนในปัจจุบันกำลังได้รับผลกระทบจากพายรุนแรงในตอนนี้มากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ในกิจกรรมของพายุหมุนเขตร้อนที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ลานีญาและเอลนีโญ หรือความผันผวนตามธรรมชาติของอุณหภูมิในแถบเส้นศูนย์สูตรของมหาสมุทรแปซิฟิกที่เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอันเกิดจากมนุษย์ เช่นก๊าซเรือนกระจก ก็จะเพิ่มมากขึ้นเมื่อระดับมลพิษจากละอองแขวนลอยลดลง
มูราคามิ คอสซิน และนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ คาดว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากก๊าซเรือนกระจกจะลดจำนวนพายุโดยรวมลงเล็กน้อย แต่จะเพิ่มจำนวนและความแรงของพายุเฮอร์ริเคนที่รุนแรงที่สุด ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมเพิ่มมากขึ้น
คริสตี้ เอบิ (Kristie Ebi) ศาสตราจารย์ด้านสาธารณสุขแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ผู้ศึกษาด้านสุขภาพ สภาพภูมิอากาศ และสภาพอากาศที่รุนแรงกล่าวว่า แม้ว่าพายุเฮอร์ริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติกอาจจะก่อให้เกิดปัญหาได้มากมายแค่ไหน แต่อัตราการเสียชีวิตจากพายุที่เพิ่มขึ้นนั้น ก็ไม่อาจเทียบได้กับการเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศของผู้คนทั่วโลกปีละเจ็ดล้านคน
เธอกล่าวทิ้งท้ายว่า มลพิษทางอากาศเป็นฆาตกรตัวฉกาจ ดังนั้นการลดการปล่อยมลพิษจึงเป็นสิ่งที่สำคัญไม่ว่าจำนวนพายุหมุนรุนแรงนั้น จะมีมากน้อยแค่ไหนก็ตาม
- ที่มา: เอพี