พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้คำแปลของคำว่า Jet lag ว่าเป็นอาการเมาเวลาเหตุการบิน เกิดจากการนั่งเครื่องบินข้ามโซนเวลาที่ต่างกัน ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียเมื่อยล้า หรือง่วงนอนผิดเวลา
แต่นักวิจัยที่มหาวิทยาลัย Ludwig-Maximilian ในนครมิวนิค เยอรมนี บอกว่ามีผู้คนจำนวนมากที่มีอาการอ่อนเพลียคล้ายกับ Jet lag ในเวลาที่ต้องทำงาน เรียกว่า Social Jet lag หรืออาการเมาเวลาที่เกิดจากวิถีชีวิตและสภาพสังคม ซึ่งเกิดจากตารางเวลาทำงานที่ไม่สอดคล้องกับนาฬิกาชีวิตหรือ Biological Clock ในร่างกายคนเรา
นักวิจัยด้านชีววิทยา Till Roenneberg ผู้นำงานวิจัยเรื่อง Social Jet lag ยกตัวอย่างว่า นาฬิกาชีวิตอาจกำหนดว่าเมื่อเราเข้านอนดึก เราควรตื่นสายเพื่อให้ได้รับการพักผ่อนเต็มที่ แต่นาฬิกาจริงๆ บนโต๊ะหัวเตียง บอกว่าเราต้องตื่นไปทำงานตั้งแต่หกโมงเช้า จึงทำให้ร่างกายเราตอบสนองต่ออาการผิดเวลา ในแบบเดียวกับการเกิด jet lag
คณะนักวิจัยที่นำโดยอาจารย์ Roenneberg ได้ทดสอบอาการ Social Jet lag กับลูกจ้างที่โรงงานเหล็กแห่งหนึ่งในเยอรมนี โดยให้ลูกจ้างได้ทำงานตามตารางเวลาที่ตรงกับพฤติกรรมการนอนของลูกจ้างแต่ละคน กล่าวคือคนที่ชอบนอนดึกตื่นสายแบบนกฮูกก็ได้เข้างานกะดึก ส่วนคนที่นอนแต่หัวค่ำและตื่นเช้าก็ได้ทำงานกะเช้า
นักวิจัยบอกว่าผลการทดสอบที่ตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Current Biology แสดงให้เห็นว่า ลูกจ้างส่วนใหญ่บอกว่ามีเวลาพักผ่อนมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าประสิทธิภาพการทำงานของลูกจ้างทั้งสองกลุ่มดีขึ้นเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม อาจารย์ Roenneberg บอกว่าดูเหมือนกลุ่มที่นอนดึกตื่นสายจะได้ประโยชน์จากการนอนเต็มอิ่มนี้น้อยกว่ากลุ่มที่ตื่นเช้า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการทำงานกะดึกนั้นลำบากกว่าไม่ว่ากับใคร
นักวิจัยผู้นี้ยังบอกด้วยว่าการทดสอบครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นไปสู่การศึกษาขั้นต่อๆไป ซึ่งรวมถึงการใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวนมากขึ้น และครอบคลุมถึงงานในส่วนอื่นๆ นอกเหนือจากงานด้านอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังจะพยายามหาความเชื่อมโยงระหว่าง Social Jet lag หรืออาการเมาเวลาทางสังคม กับปัญหาด้านสุขภาพ เช่นโรคอ้วนด้วย
นักวิจัยผู้นี้แนะนำว่าในที่สุดแล้วคนทำงานไม่ว่ากะเช้าหรือกะดึก ควรได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่ เพราะยิ่งสดชื่นมากก็ยิ่งทำงานได้ดีขึ้น และที่สำคัญไม่บั่นทอนสุขภาพตนเอง
รายงานจาก Jessica Berman / เรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล