รมต.ต่างประเทศสิงคโปร์ K. Shanmugam เตือนว่าสหรัฐฯ กำลังเผชิญความเสี่ยงเกี่ยวกับบทบาทในเอเชียแปซิฟิก หลังจากวุฒิสภาสหรัฐฯ ไม่ผ่านร่างกม. ให้อำนาจแก่ประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า เพื่อรับรองข้อตกลงการค้า Trans-Pacific Partnership เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ร่างกฏหมายให้อำนาจการรับรองข้อตกลงการค้าแก่ประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า หรือ TPA เป็นร่างกฏหมายที่อนุญาตให้รัฐสภามีอำนาจในการยอมรับหรือปฏิเสธข้อตกลงการค้า Trans-Pacific Partnership หรือ TPP เท่านั้น แต่จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขใดๆ ในข้อตกลงนั้นได้
เมื่อวันจันทร์ รมต. ต่างประเทศสิงคโปร์ K. Shanmugam กล่าวต่อ Centers for Strategic and International Studies หรือ CSIS ในกรุงวอชิงตันว่า เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพยายามบรรลุข้อตกลง TPP ให้ได้ เพื่อผลประโยชน์ของประเทศที่เข้าร่วมข้อตกลงนี้ รวมทั้งประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
รมต. Shanmugam ระบุว่า มูลค่าเศรษฐกิจของสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศรวมกันมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก คิดเป็นมูลค่า 2 ล้าน 4 แสนล้านดอลล่าร์ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 4 ล้านล้านดอลล่าร์ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ถือเป็นภูมิภาคที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และต้องการการสนับสนุนทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ด้านพลังงาน และเทคโนโลยีซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ เป็นผู้นำ แต่คำถามคือเวลานี้สหรัฐฯ อยู่ที่ไหน
รมต.ต่างประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่าที่ผ่านมาสหรัฐฯ คือผู้รับรองความสงบรุ่งเรืองของภูมิภาคนี้ และว่าข้อตกลง TPP ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันบทบาทของสหรัฐฯ ในอาเซียน ซึ่งหากการเจรจาเรื่องนี้ล้มเหลว สหรัฐฯ ก็อาจถูกกีดกันออกไปจากการเจรจาข้อตกลงการค้าอื่นๆ ในอนาคตได้ ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของสหรัฐฯ ว่ายังต้องการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเติบโตของเอเชียแปซิฟิกหรือไม่
ด้านอาจารย์ Michael Barr นักวิเคราะห์แห่ง School of International Studiesมหาวิทยาลัย Flinders ในออสเตรเลีย ชี้ว่าปัญหาการเมืองของสหรัฐฯ และความพยายามปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ กำลังสั่นคลอนความเชื่อมั่นของพันธมิตรของสหรัฐฯ ในเอเชีย รวมทั้งสิงคโปร์ และอาจทำให้ประเทศพันธมิตรเหล่านั้นไม่มั่นใจที่จะเดินหน้าเจรจาข้อตกลง TPP ต่อไป เพราะเกรงว่าเมื่อ ปธน.โอบาม่าไม่มีอำนาจ TPA รัฐสภาสหรัฐฯ ก็อาจปรับแก้ข้อตกลงฉบับนี้ได้
อาจารย์ Michael Barr ชี้ว่าในส่วนของสิงคโปร์ก็กำลังเกิดความกังวลว่า หากสหรัฐฯ ไม่สามารถผ่านข้อตกลง TPP ได้ ก็อาจส่งผลกระทบต่อการรักษาสมดุลอำนาจของจีนในภูมิภาคนี้ได้เช่นกัน รวมถึงความกังวลว่า หลายประเทศในแถบนี้อาจหมดความเชื่อถือในศักยภาพของสหรัฐฯ เพราะแม้แต่เรื่องเล็กๆ อย่างการลงนามในข้อตกลงการค้ายังทำไม่ได้
ด้านผู้นำพรรครีพับลิกันในรัฐสภาสหรัฐฯ ชี้แจงว่ายังต้องการเวลาในการสร้างแรงสนับสนุนร่างกฏหมาย TPA และจะผลักดันให้มีการลงคะแนนในร่างกฏหมายดังกล่าวในวันที่ 30 ก.ค นี้
ความซับซ้อนของการผ่านร่างกฏหมาย TPA หรือ Fast Track อยู่ตรงที่ร่างกฏหมายนี้ถูกต่อต้านจากผู้นำในพรรคเดโมแครตเอง รวมทั้งผู้นำเสียงส่วนน้อยในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ Nancy Pelosi และนาง Hillary Clinton ผู้สมัครเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตลงชิงตำแหน่งปธน. สหรัฐฯในปีหน้าด้วย
ผู้สื่อข่าว Victor Beattie รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง