การศึกษานี้จัดทำที่ทะเลสาปวิคตอเรียในประเทศเคนยา เป็นเรื่องของปลาชนิดหนึ่งกับเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับคนและสิ่งเเวดล้อมของทะเลสาบเเละบริเวณรอบๆ
ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1960 อังกฤษผู้ครองอณานิคมได้สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างหน้ามือเป็นหลังมือเเก่ทะเลสาบวิคตอเรีย เมื่อนำปลากะพงแม่น้ำไนล์หรือปลากะพงยักษ์ไปปล่อยลงทะเลสาบนี้ ปลาล่าเหยื่อชนิดนี้ขยายจำนวนอย่างรวดเร็วและทำให้ปลาสายพันธุ์ท้องถิ่นหลายร้อยพันธุ์สาบสูญ
เเต่ปลากะพงยักษ์เป็นที่นิยมรับประทานอย่างมาก ทำให้มีการจับปลาชนิดนี้เพื่อนำไปขายเพิ่มขึ้นอย่างมากในเคนยา ยูกันดาและเเทนซาเนีย ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 และ 1990 ทำให้จำนวนปลากะพงยักษ์ลดลง จนมีการออกกฏระเบียบออกมาอนุรักษ์ปลาพันธุ์นี้
และในช่วงเวลาเดียวกันนั้น เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสเอชไอวีที่เป็นสาเหตุของโรคเอดส์ในชุมชนชาวประมงรอบๆ ทะเลสาบวิคตอเรีย
เมื่อคนเริ่มเจ็บป่วยกันมากขึ้น สภาพเเวดล้อมของทะเลสาบก็เริ่มย่ำเเย่ลง
ทีมนักวิจัยพบว่า สภาพเเวดล้อมที่เป็นมลพิษอาจเป็นสาเหตุของปัญหาทางสุขภาพของคน และคนที่เจ็บป่วยก็อาจเป็นต้นเหตุในเกิดปัญหาแก่สิ่งเเวดล้อมได้ด้วยเช่นกัน
การศึกษานี้เฝ้าติดตามสุขภาพของคนมากกว่า 300 กว่าครัวเรือนในชุมชนชาวประมงบนเกาะ Continental Island ในทะเลสาบวิคตอเรีย
Kathryn Fiorella หัวหน้าทีมนักวิจัยที่ Atkinson Center for a Sustainable Future ที่มหาวิทยาลัย Cornell กล่าวว่า "ทะเลสาบวิคตอเรียมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานเเละน่าสนใจ ที่เเสดงให้เห็นความเกี่ยวโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งเเวดล้อมกับปัญหาสุขภาพของคนที่อาศัยอยู่ใกล้กับทะเลสาบ"
และว่า "การอพยพย้ายถิ่นเป็นปัจจัยให้เชื้อเอชไอวีแพร่ระบาดและส่งผลต่อสภาพเเวดล้อมในเวลาต่อมา"
Fiorella หัวหน้าทีมนักวิจัย กล่าวว่า "ในช่วงที่ทะเลสาบวิคตอเรียกลายเป็นเเหล่งประมงที่สร้างรายได้ มีคนย้ายถิ่นเข้าไปในพื้นที่มากขึ้น ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่เชื้อเอชไอวีกำลังระบาดโดยไม่มีใครรู้"
ในบริเวณแอฟริกาตะวันออกในปัจจุบัน การติดเชื้อเอชไอวียังอยู่ในระดับที่สูงมากในพื้นที่รอบๆ ทะเลสาบวิคตอเรีย และในชุมชนที่ทีมนักวิจัยทำการศึกษา การติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มผู้ใหญ่อยู่สูงเกิน 27 เปอร์เเซ็นต์
ทีมนักวิจัยกล่าวว่า ชาวประมงที่ติดเชื้อเอชไอวีที่ทะเลสาบแห่งนี้ยังออกไปหาปลาตามปกติ เเต่จะเปลี่ยนวิธีการที่ใช้ในการจับปลาซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม วิธีจับปลาบางวิธีผิดกฏหมายหรือถูกควบคุมเข้มงวด เพราะอาจสร้างผลเสียต่อแหล่งที่อยู่ของปลาและจุดวางไข่ ตลอดจนจับปลาที่ยังไม่โตเต็มที่หรือตัวเล็กเกินไป
นักวิจัยกล่าวว่าการเจ็บป่วยทำให้ชาวประมงมองชีวิตต่างไปจากเดิม โดยหันไปเน้นความจำเป็นเร่งด่วนเสียก่อน
ผลการศึกษานี้เน้นให้เห็นความสำคัญของจัดหาบริการด้านการรักษาพยาบาลให้เเก่ชุมชน ซึ่งมีความเกี่ยวพันต่อการประกอบอาชีพอย่างยั่งยืนและการจัดการแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ
ผลการศึกษาเกี่ยวกับปลากับเชื้อไวรัสนี้ ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจดีขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบจากความเจ็บป่วยของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งเเวดล้อม และทีมนักวิจัยกำลังวางแผนที่จะศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติมต่อไป
(รายงานโดย Joe De Capua / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว)