ในแต่ละวัน จะมีปลาฉลามครีบดำมากถึง 40 ตัวเวียนว่ายอยู่ในบริเวณน้ำตื้นของอ่าวมาหยา ในขณะที่นักท่องเที่ยวราว 4,000 คนต่อวันพากันมาเยือนหาดทรายสีขาวที่ขนาบข้างด้วยหน้าผาสูงตระหง่านนี้
ก่อนหน้านี้ ปลาฉลามครีบดำถูกขับออกไปจากอ่าวโดยนักท่องเที่ยวและเรือท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาเพื่อชมทัศนียภาพอันงดงามซึ่งโด่งดังจากฉากของภาพยนตร์ระทึกขวัญเรื่อง "The Beach" ที่นำแสดงโดย Leonardo Di Caprio ในปี 2000
แต่ฝูงฉลามเหล่านี้กลับมาเวียนว่ายในอ่าวมาหยาอีกครั้งหลังจากที่มีการปิดอ่าวเพื่อการท่องเที่ยวเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระหว่างปี 2018-2022
ต่อมาทางการอนุญาตให้การท่องเที่ยวกลับมาดำเนินการได้อีกครั้งอย่างจำกัดในปี 2022 และในตอนนี้ นักอนุรักษ์กล่าวว่าจำนวนปลาฉลามกลับลดลงอีกครั้ง ทำให้อ่าวมาหยาต้องพยายามสร้างสมดุลระหว่างการรักษาระบบนิเวศที่บริสุทธิ์และการดำรงชีวิตของคนในท้องถิ่นที่ต้องพึ่งพาการท่องเที่ยว
ดร.เพชร มโนปวิตร ที่ปรึกษาทางทะเลของกรมอุทยานแห่งชาติของไทย กล่าวว่า “เราไม่ได้พูดถึงการปิดสถานที่ท่องเที่ยวทุกแห่ง หรือการลดจำนวนการท่องเที่ยว แต่เรากำลังพูดถึงการจัดการกับปัญหานี้อย่างชาญฉลาด”
ทั้งนี้ อ่าวมาหยาตั้งอยู่ในเกาะพีพีเล โดยมีลักษณะเป็นหินปูนที่ปกคลุมด้วยพืชพรรณสีเขียวมรกตในทะเลอันดามันนอกชายฝั่งทางตะวันตกของประเทศไทย
เมธาวี ช่วงเจริญดี นักวิจัยทางทะเล กล่าวว่า ต้องขอบคุณการระงับการท่องเที่ยวเป็นการชั่วคราว ที่ทำให้เกาะแห่งนี้กลายเป็นแหล่งอนุบาลลูกฉลามวัยเยาว์อีกครั้ง
เมธาวีและนักวิจัยคนอื่น ๆ ในโครงการ Maya Shark Watch ใช้กล้องใต้น้ำและโดรนเพื่อนับจำนวนฉลาม ตลอดจนสังเกตพฤติกรรม พื้นที่หากิน และรูปแบบการผสมพันธุ์ของพวกมัน ในระหว่างเดือนพฤศจิกายนปี 2021 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นการศึกษานำร่อง และสิ้นปี 2022 นักวิจัยสังเกตเห็นว่าจำนวนฉลามในอ่าวมาหยาลดลงพร้อม ๆ กับนักท่องเที่ยวที่ทยอยกลับเข้ามายังอ่าวนี้
ฉลามครีบดำซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นตามลักษณะที่มีสีดำที่โดดเด่นบนครีบหลังและหางของพวกมัน จะเวียนว่ายอยู่ในทะเลอันดามันและภูมิภาคเขตร้อนอื่น ๆ แต่พวกมันมีจำนวนลดลงเนื่องจากการทำการประมงเกินขนาด ตามรายงานของ International Union for Conservation of Nature
เมธาวีกล่าวต่อไปว่า มีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อจำนวนฉลามรอบ ๆ เกาะพีพีเล รวมถึงรูปแบบการเคลื่อนตัวตามฤดูกาลและกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ เช่น การตกปลา
ทั้งภาครัฐและนักอนุรักษ์พยายามที่จะแก้ปัญหาฉลามมีจำนวนลดลงนี้ โดยการห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวว่ายน้ำในอ่าว ซึ่งจะเป็นการขับไล่ลูกฉลามที่ซ่อนตัวอยู่ในน้ำตื้นและแนวปะการังจากฉลามที่โตเต็มวัยที่กินเนื้อพวกเดียวกันเป็นอาหาร
เมธาวีกล่าวอีกว่า "พวกเราหวังว่าการจำกัดกิจกรรมต่าง ๆ สำหรับนักท่องเที่ยวในอ่าวมาหยา จะช่วยบรรเทาการรบกวนฉลามได้ และว่านักวิจัยทำการวิจัยนี้ด้วยความหวังที่ว่าจะสามารถหาวิธีที่ดีที่สุดในการจัดการให้การท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อมสามารถดำเนินควบคู่กันไปได้”
ภายใต้แรงกดดันจากบรรดาบริษัททัวร์ ทางการได้เปิดอ่าวมาหยาอีกครั้งในเดือนมกราคมปี 2022 หลังจากที่ปิดมาเป็นเวลาสี่ปี และตัวเลขนักท่องเที่ยวและรายได้ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกครั้ง แต่ทางการก็ยังคงจำกัดกิจกรรมต่าง ๆ ของนักท่องเที่ยว อย่างเช่น เรือนำเที่ยวต้องเทียบท่าที่อีกฝั่งของเกาะจากชายหาด นักท่องเที่ยวต้องเดินไปที่ชายหาด จำนวนนักท่องเที่ยวถูกจำกัดไว้ที่ชั่วโมงละ 375 คน และอนุญาตให้ลุยน้ำลึกแค่เข่าเท่านั้น เป็นต้น
เพชร มโนปวิตร ที่ปรึกษากรมอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า เขาคิดว่าหากสามารถสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้อ่าวมาหยาเป็นเขตอนุรักษ์ธรรมชาติได้ ก็จะเป็นการสร้างรูปแบบการท่องเที่ยวใหม่ด้วยเช่นกัน และทุกคนก็จะได้รับประโยชน์ร่วมกัน
- ที่มา: รอยเตอร์