ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ทีมนักวิจัยในสก๊อตเเลนด์พบว่าแมวน้ำออกหากินที่ตามจุดที่ตั้งของกังหันลมนอกชายฝั่งเพื่อผลิตไฟฟ้าและท่อใต้น้ำ


please wait

No media source currently available

0:00 0:04:01 0:00
Direct link

นักวิจัยอังกฤษชี้ว่าการสร้างกังหันลมนอกชายฝั่งทะเลเพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมอาจจะมีผลกระทบต่อแมวน้ำและระบบนิเวศวิทยาในทะเล

คุณ Deborah Russell นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัย St. Andrews ในสก็อตเเลนด์เปิดเผยว่าการติดตั้งกังหันลมนอกชายฝั่งเพื่อผลิตกระเเสไฟฟ้าจากพลังงานลมนอกจากจะเป็นการใช้ประโยชน์จากพลังงานหมุนเวียนเเล้ว ยังอาจมีบทบาทใหม่ที่คาดไม่ถึงมาก่อน นั่นก็คือกลายเป็นเเหล่งหากินของแมวน้ำ

ทีมวิจัยที่นำโดยคุณ Russell ทำการติดตามเฝ้าดูจุดที่ตั้งของกังหันลมนอกชายฝั่งทะเล North Sea ในประเทศอังกฤษกับเนเธอร์เเลนด์ โดยติดตามดูพฤติกรรมของแมวน้ำกลุ่มหนึ่งจำนวน 100 ตัวที่หากินในบริเวณนี้ ทีมนักวิจัยได้ติดป้ายระบบจีพีเอสบนหลังของแมวน้ำเพื่อช่วยในการติดตาม

คุณ Deborah Russell หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าการติดตามดูพฤติกรรมของแมวน้ำน่าสนใจมาก ป้ายระบบจีพีเอสที่ติดบนหลังของแมวน้ำส่งสัญญาณผ่านระบบโทรศัพท์เเบบเคลื่อนที่ ระบบโทรศัพท์จะส่งข้อความแก่ทีมวิจัยระบุว่าแมวน้ำกลุ่มดังกล่าวอยู่ ณ จุดใดและไปที่ใดมาบ้าง ตลอดจนข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมของแมวน้ำว่าไปทำอะไรมาบ้าง

การวิจัยนี้มุ่งพัฒนาความเข้าใจถึงการปฏิสัมพันธ์ระหว่างแมวน้ำกับกังหันลมในทะเลและท่อใต้น้ำ ทีมนักวิทยาศาสตร์บันทึกข้อมูลที่ได้จากระบบจีพีเอสลงบนกราฟเพื่อระบุว่ากลุ่มแมวน้ำออกไปหากินตามจุดที่ตั้งของกังหันลมในทะเลบ่อยเเค่ไหนหรือหากินในจุดเดียวซ้ำๆ กันมากน้อยเเค่ไหน

คุณ Russell กล่าวว่าจำนวนของกังหันลมในทะเลที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น จะมีผลกระทบหลายอย่างต่อแมวน้ำอย่างเเน่นอน

เธอกล่าวว่าการสร้างสวนกังกันลมในทะเลอาจจะสร้างมลภาวะทางเสียงเเก่สัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยในทะเลจุดนั้นๆ และในขณะเดียวกัน อาจจะดึงดูดสัตว์ทะเลเข้าไปหากินในบริเวณที่ตั้งของกังหันลมเพราะอาจมีจำนวนปลาและอาหารเพิ่มมากขึ้นเพราะการประมงในจุดดังกล่าวจะลดลง ทีมนักวิจัยคิดว่ากังหันลมนอกชายฝั่งอาจจะกลายเป็นเหมือนกับแนวปะการังเทียมไปในตัว

คุณ Deborah Russell หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่าแนวปะการังเทียมนี้จะมีบทบาทสำคัญอันใหม่ในห่วงโซ่อาหารของสัตว์ทะเล

เธอกล่าวว่ากังหันลมนอกชายฝั่งกับท่อใต้น้ำช่วยสร้างแหล่งอาหารขึ้นมาในบริเวณและอาจจะกลายเป็นแหล่งหากินที่ยั่งยืนแหล่งใหม่ขึ้นแก่สัตว์ทะเลในพื้นที่ เธอกล่าวว่าในกรณีนี้ กังหันลมควรได้รับการออกแบบให้เพิ่มคุณประโยชน์ทางนิเวศวิทยา อย่างไรก็ตาม ในทางตรงกันข้าม หากสัตว์ทะเลที่เป็นอาหารของสัตว์ทะเลอื่นๆ เเห่กันเข้าไปอาศัยในบริเวณจุดที่ตั้งของกังหันลมในจำนวนมหาศาลจากที่เคยอาศัยในหลายๆ จุดทั่วท้องทะเล สัตว์เหล่านี้ก็จะเสี่ยงต่อการเป็นอาหารของแมวน้ำในคราวละจำนวนมากจนเสี่ยงต่อการลดจำนวนลง

คุณ Deborah Russell หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่ามีหลายประเด็นที่ควรได้รับการวิเคราะห์ในการวิจัยครั้งต่อไปเพื่อช่วยพัฒนาข้อมูลที่ดีเเก่ผู้ออกนโยบายและสาธารณชนเกี่ยวกับการพัฒนาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมและสภาพแวดล้อมทางทะเล

เกี่ยวข้อง

XS
SM
MD
LG