นักวิเคราะห์ชี้ว่า ผู้ใช้เฟสบุ๊กในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย คือกลุ่มที่ตกเป็นผู้เสียหายจากการถูกบริษัท เคมบริดจ์ อนาลีติกา (Cambridge Analytica) ดึงข้อมูลส่วนตัวไปใช้อย่างไม่เหมาะสมจำนวนมากที่สุด รองจากผู้ใช้ในสหรัฐฯ เนื่องมาจากความนิยมใช้แอพพลิเคชั่นตัวหนึ่งที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหานี้
เฟสบุ๊ก (Facebook) ระบุว่า มีผู้ใช้เฟสบุ๊กชาวฟิลิปปินส์ราว 1,175,000 คน ที่อาจได้รับผลกระทบจากกรณีบริษัท เคมบริดจ์ อนาลีติกา (Cambridge Analytica) ดึงข้อมูลส่วนตัวไปใช้อย่างไม่เหมาะสม ซึ่งมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากชาวอเมริกัน ขณะที่ชาวอินโดนีเซีย ตามมาเป็นอันดับสาม ที่จำนวน 1,100,000 คน
ส่วนอีกประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือเวียดนามนั้น คาดว่ามีผู้เสียหายจากกรณีนี้ราว 427,000 คน มากที่สุดเป็นอันดับเก้า จากจำนวนผู้ใช้เฟสบุ๊กทั่วโลกทั้งหมด 87 ล้านคน ที่เชื่อว่าถูกดึงข้อมูลส่วนตัวไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
นักวิเคราะห์ด้านสื่อสังคมออนไลน์ของฟิลิปปินส์ เรนาโต้ เรเยส (Renato Reyes) ชี้ว่า ชาวฟิลิปปินส์นิยมใช้แอพถามคำถามส่วนบุคคลแอพหนึ่ง ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา อเล็กซานเดอร์ โคแกน (Aleksandr Kogan) แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ที่เชื่อว่าเป็นแหล่งเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนตัวที่บริษัท Cambridge Analytica ดึงไปใช้ในการวิเคราะห์ เพื่อวางแผนรณรงค์หาเสียงให้กับ โดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี ค.ศ. 2016
คุณเรนาโต้ เรเยส เชื่อว่า ฟิลิปปินส์ถูกใช้เป็น “สนามทดลอง” ในการดึงข้อมูลผู้ใช้เฟสบุ๊กไปเพื่อการรณรงค์หาเสียงทางการเมือง ระหว่างการเลือกตั้งในฟิลิปปินส์เมื่อปี ค.ศ. 2016 ก่อนที่จะนำไปใช้กับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปลายปีเดียวกัน
และเนื่องจากฟิลิปปินส์คือประเทศที่มีผู้เสียหายมากที่สุดเป็นอันดับสอง คุณเรเยสเชื่อว่า ชาวฟิลิปปินส์สมควรได้รับคำตอบอย่างตรงไปตรงมาจากเฟสบุ๊ก ว่าเกิดอะไรขึ้นกับกรณีนี้ และทางเฟสบุ๊กมีแนวทางแก้ไขจัดการอย่างไร เพื่อไม่ให้มีการใช้ข้อมูลของสมาชิกเฟสบุ๊กเพื่อประโยชน์ทางการเมืองอีกในอนาคต
ส่วนที่อินโดนีเซีย รัฐมนตรีกระทรวงการสื่อสารของอินโดนีเซีย ได้หารือกับฝ่ายวางแผนนโยบายของ Facebook สาขาอินโดนีเซีย เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อหาทางรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นเช่นกัน
โดยปัจจุบัน มีชาวอินโดนีเซียใช้เฟสบุ๊กราว 130 ล้านคน คือเป็น 6% ของจำนวนผู้ใช้เฟสบุ๊กทั้งหมดทั่วโลก
อาจารย์อธินา คารัตโซจิอันนี (Athina Karatzogianni) แห่งภาควิชาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยเลสเตอร์ ในอังกฤษ เชื่อว่าการที่มีชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนมากตกเป็นผู้เสียหายจากกรณีนี้ เป็นเพราะความนิยมใช้เฟสบุ๊กที่ขยายตัวตามจำนวนโทรศัพท์มือถือ
โดยเมื่อปีที่แล้ว ยอดขายโทรศัพท์มือถือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 100 ล้านเครื่อง ตามรายงานของบริษัทวิจัยด้านการตลาด IDC
สำหรับเวียดนาม ซึ่งคาดว่ามีผู้ใช้เฟสบุ๊กราว 64 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 94 ล้านคนนั้น แม้จะมีผู้ได้รับผลกระทบจากกรณี Cambridge Analytica ไม่มากเท่ากับเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่า ชาวเวียดนามมีความเสี่ยงสูงต่อการถูกดึงข้อมูลไปใช้ เนื่องจากลักษณะการใช้เฟสบุ๊กของชาวเวียดนาม ที่มักชอบโพสต์รูปและข้อมูลส่วนตัวต่างๆ อย่างเปิดเผยในโลกออนไลน์ โดยไม่ระมัดระวังและไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา
(ผู้สื่อข่าว Ralph Jennings รายงานจากกรุงไทเป / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)