ลิ้งค์เชื่อมต่อ

‘สวนปลาหมึกยักษ์’ เปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตอัจฉริยะใต้สมุทร


ภาพจากวิดีโอเมื่อปี 2019 จาก MBARI เผยให้เห็นหมึกในสวนปลาหมึกยักษ์ ใกล้กับ Davidson Seamount นอกชายฝั่งแคลิฟอร์เนีย ที่ความลึก 3,200 เมตรใต้ทะเล (MBARI/AP)
ภาพจากวิดีโอเมื่อปี 2019 จาก MBARI เผยให้เห็นหมึกในสวนปลาหมึกยักษ์ ใกล้กับ Davidson Seamount นอกชายฝั่งแคลิฟอร์เนีย ที่ความลึก 3,200 เมตรใต้ทะเล (MBARI/AP)

นักวิจัยด้านสมุทรศาสตร์กลุ่มหนึ่งค้นพบพฤติกรรมที่ไม่เหมือนที่ได้ศึกษามาเกี่ยวกับปลาหมึกยักษ์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมใต้มหาสมุทรที่ไม่ปกติจนทำให้สิ่งมีชีวิตที่ได้ชื่อว่าเป็น “อัจฉริยะใต้สมุทร” เหล่านี้ เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของตนอย่างไม่เคยมีใครทราบมาก่อน

โดยมากแล้ว ปลาหมึกยักษ์ไม่ใช่สัตว์ที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน แต่มักจะอยู่อย่างสันโดษทั้งชีวิต ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงประหลาดใจที่พบหมึกยักษ์สีมุกหลายพันตัวอาศัยอยู่รวมกันเพื่อปกป้องไข่ที่กำลังรอฟักอยู่ ที่บริเวณพื้นมหาสมุทรนอกชายฝั่งของรัฐแคลิฟอร์เนีย

และหลังมีการศึกษามาสักพัก นักวิจัยก็เริ่มเข้าใจและค่อย ๆ ไขปริศนาพฤติกรรมที่แปลกประหลาดของปลาหมึกสีมุกขนาดใหญ่นี้ได้แล้ว และนั่นก็คือ การพบว่า ภูเขาไฟใต้น้ำที่ดับสนิทไปแล้วทำให้บริเวณที่แม่หมึกอาศัยอยู่ร้อนขึ้น และส่งผลให้ไข่ของพวกมันฟักตัวเร็วขึ้นตามไปด้วย

สวนปลาหมึกยักษ์
สวนปลาหมึกยักษ์

แจเน็ท วอยท์ (Janet Voight) นักชีววิทยาปลาหมึกยักษ์ที่พิพิธภัณฑ์ Field Museum of Natural History ในชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ ซึ่งร่วมเขียนงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงข้อดีที่ชัดเจนของการใช้ชีวิตอยู่ในน้ำที่อุ่น ซึ่งเปรียบเสมือนการนั่งอยู่ในอ่างน้ำร้อนธรรมชาติ

นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบว่า ความอบอุ่นในบริเวณนั้นช่วยลดระยะเวลาในการฟักตัวของไข่ปลาหมึกได้อย่างมาก ซึ่งช่วยให้ไข่เหล่านั้นมีความเสี่ยงที่ลดลงสำหรับการตกเป็นอาหารของหอยทาก กุ้ง และสัตว์อื่น ๆ

นักวิจัยค้นพบพื้นที่วางไข่นี้เมื่อปี 2018 และเรียกบริเวณดังกล่าวว่า “สวนปลาหมึกยักษ์” ก่อนจะใช้หุ่นยนต์ใต้น้ำเพื่อบันทึกภาพกลุ่มหมึกยักษ์เกือบ 6,000 ตัวที่อาศัยอยู่ในความลึกจากผิวน้ำประมาณ 3 กิโลเมตร โดยปลาหมึกยักษ์เหล่านั้นจะวางไข่บนหินที่อุ่น ๆ แล้วจะวนเวียนอยู่ในบริเวณนั้นเพื่อปกป้องลูก ๆ ด้วยร่างกายของมันเอง

แอนดรูว์ เดอโวเกแลร์ (Andrew DeVogelaere) นักชีววิทยาที่สถาบันสมุทรศาสตร์วิทยาเเละชั้นบรรยากาศโลกเเห่งชาติสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ร่วมเขียนการศึกษานี้บรรยายถึงสิ่งที่นักวิจัยเห็นว่า เป็นเรื่องที่เหลือเชื่อจริง ๆ ที่ได้เห็นปลาหมึกยักษ์สีมุกหลายพันตัว ลอยกลับหัวอยู่ โดยที่ขาของพวกมันชี้ขึ้นไปในอากาศและเคลื่อนที่ไปรอบ ๆ บริเวณนั้น

เขาอธิบายต่อว่า ปลาหมึกยักษ์เหล่านั้นกำลังขับไล่บรรดานักล่าทั้งหลายและพลิกไข่ของพวกมันเพื่อให้มีน้ำและออกซิเจนไหลเข้าไปได้อย่างสม่ำเสมอ

กล้องใต้น้ำบันทึกภาพ "สวนปลาหมึกยักษ์"
กล้องใต้น้ำบันทึกภาพ "สวนปลาหมึกยักษ์"

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า เหตุใดหมึกเหล่านั้นจึงมารวมตัวกันที่นั่น

นักวิทยาศาสตร์เฝ้าสังเกตการณ์พื้นที่ดังกล่าวมาเป็นเวลาสามปีเพื่อทำความเข้าใจในกระบวนการฟักไข่ โดยพวกเขาได้บันทึกทั้งระยะการพัฒนาของไข่ที่รัง 31 รัง และการตายของแม่ปลาหมึกยักษ์อีกด้วย

เจมส์ แบร์รี (James Barry) นักชีววิทยาที่สถาบันวิจัย Monterey Bay Aquarium Research Institute ซึ่งเป็นผู้เขียนร่วมเขียนการศึกษาฉบับนี้ด้วยกล่าวว่า “ทันทีที่ลูก ๆ ปลาหมึกออกมาจากรังและว่ายออกไปในความมืด พวกแม่ ๆ ที่ไม่เคยออกจากรังและไม่เคยหาอาหารระหว่างที่กกไข่อยู่นั้นก็จะตายลงในไม่ช้า”

นักวิจัยพบว่า ไข่ในบริเวณนี้จะฟักตัวออกมาหลังจากที่ผ่านไปประมาณ 21 เดือน ขณะที่ กระบวนการเดียวกันนี้จะใช้เวลาถึงสี่ปีหรือมากกว่านั้นสำหรับปลาหมึกยักษ์ใต้ทะเลลึกชนิดอื่น ๆ

อาดิ เคน (Adi Ken) นักชีววิทยาที่สถาบันสมุทรศาสตร์ Scripps Institution of Oceanography ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาครั้งนี้กล่าวว่า “โดยปกติแล้ว น้ำที่เย็นกว่าจะชะลอการเผาผลาญและการพัฒนาของตัวอ่อน และยืดอายุขัยในทะเลลึก แต่ ณ บริเวณนี้ ดูเหมือนว่า ความอบอุ่นจะช่วยเร่งสิ่งต่าง ๆ ให้เร็วขึ้น”

ทางด้านไมค์ เวคคิออน (Mike Vecchione) นักสัตววิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านปลาหมึกยักษ์จากพิพิธภัณฑ์ Smithsonian National Museum of Natural History กล่าวยกย่องนักวิจัยที่รวบรวมข้อมูลที่มีรายละเอียดมากมายเกี่ยวกับสถานที่ห่างไกลเช่นนี้ว่า สวนปลาหมึกยักษ์ดังกล่าว “อาจแพร่ขยายออกไป และจะมีความสำคัญอย่างมากในทะเลลึก” และยังมีอะไรอีกมากมายที่รอให้เราค้นพบในท้องทะเลลึก

  • ที่มา: เอพี
XS
SM
MD
LG