ลิ้งค์เชื่อมต่อ

'สาหร่าย' อาจช่วยให้วัวเป็นมิตรต่อสิ่งเเวดล้อม


วัวหลายตัวที่ฟาร์มวัวนมในมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเดวิส กินอาหารเช้าที่มีสาหร่ายเป็นส่วนผสม

บรีแอนน่า ร็อคกี้ นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยเเห่งนี้ กล่าวว่า ทีมงานนำสาหร่ายผสมกับกากน้ำตาลอ้อยเพื่อให้สาหร่ายมีรสชาติหวานขึ้น ทีมงานจะผสมสาหร่ายให้เข้ากับอาหารสัตว์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะวัวบางตัวจะเลือกเอาสาหร่ายออก แต่วัวบางตัวก็กินทั้งอาหารสัตว์และสาหร่ายเข้าไปทั้งหมด

ทีมนักวิจัยทีมนี้กำลังศึกษาว่า การผสมสาหร่ายจำนวนเล็กน้อยเข้าไปในอาหารของวัว สามารถช่วยลดแก๊สมีเทนที่เกิดจากมูลสัตว์ได้หรือไม่ ซึ่งเป็นแก๊สเรือนกระจกชนิดหนึ่งที่ออกมาจากลมหายใจของวัว หรือจากมูลวัว

ในการทดลอง วัวสิบกว่าตัวได้กินสาหร่ายทะเลที่ผสมเข้ากับอาหารวัว โดยก่อนให้สาหร่ายแก่วัว ทีมนักวิจัยทดลองในห้องแล็บเสียก่อนเพื่อวัดปริมาณแก๊สมีเทนในตู้หมักที่เลียนแบบการทำงานของกระเพาะวัว

มาธายส์ เฮส นักจุลชีววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า ในห้องทดลอง มีตู้หมัก 6 ตู้ที่ทำหน้าที่เหมือนกระเพาะวัว เเละทีมนักวิจัยนำมาตั้งเรียงกันเป็นแถว เเละสามารถทดสอบผลต่อจุลชีววิทยาในกระเพาะอาหารวัวที่เกิดจากส่วนผสมเพิ่มเติมต่างๆ ที่ทีมนักวิจัยใช้ผสมเข้าไปในอาหารเลี้ยงวัว

ทีมนักวิจัยยังทดสอบรสชาติเเละคุณค่าทางโภชนาการของตัวอย่างของน้ำนมวัวหลายตัวอย่างอีกด้วย เเละมีการวัดปริมาณเเก๊สมีเทนในลมหายใจของวัวทุกครั้งที่วัวสอดหัวเข้าไปกินอาหารในเครื่องให้อาหาร และทีมนักวิจัยค้นพบว่า ปริมาณแก๊สมีเทนที่ปล่อยออกมาลดลงมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์

ฟาร์มวัวนมเเละฟาร์มปศุสัตว์อื่นๆ เป็นเเหล่งผลิตแก๊สมีเทนแหล่งสำคัญ เเละรัฐเเคลิฟอร์เนียได้ตั้งกฏระเบียบให้ฟาร์มวัวนมเเละฟาร์มปศุสัตว์ลดปริมาณเเก๊สมีเทนที่เกิดขึ้นลงให้ได้ราว 40 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี ค.ศ. 2030 หรืออีก 12 ปีข้างหน้า

เออเมียส เคเบรียบ นักวิทยาศาสตร์ด้านวัวนมแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า การลดแก๊สมีเทนลงจะช่วยลดปริมาณแก๊สเรือนกระจกลงตามไปด้วย ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศโลก เเละจะเป็นผลดีแก่คนทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการศึกษาวิจัยกันต่อไปเพื่อยืนยันถึงประสิทธิภาพเเละความปลอดภัยของการใช้สาหร่ายผสมในอาหารเลี้ยงวัวนมเพื่อลดแก๊สมีเทน

XS
SM
MD
LG