วาฬสีน้ำเงินเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีบนโลกของเรา หลายๆ คนอาจสงสัยกันว่าสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ที่ว่านี้กินมากแค่ไหน?
เมื่อเร็วๆ นี้นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาเพื่อดูว่าวาฬสีน้ำเงินและสัตว์ในตระกูลใกล้เคียงกันกินมากมายแค่ไหนใน 1 วัน และพบว่าปลาวาฬเป็นสัตว์ที่กินอาหารจำนวนมาก ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ
ใน 1 วัน วาฬสีน้ำเงินที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือสามารถกินตัวเคยได้ประมาณ 14.5 เมตริกตัน เคยเป็นสัตว์จำพวกกุ้งและมีลักษณะเหมือนกุ้งที่ตัวเล็กมากๆ นั่นหมายถึงว่าวาฬสีน้ำเงินกินอาหารปีละประมาณ 1,450 เมตริกตัน
Matthew Savoca แห่งมหาวิทยาลัย Stanford University ซึ่งเป็นหัวหน้าการศึกษาวิจัยครั้งนี้ได้พูดถึงการค้นพบครั้งนี้ว่าอาหารที่วาฬสีน้ำเงินกินนั้นมีปริมาณมากมายอย่างที่คาดไม่ถึง
ส่วน Nick Pyenson เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติของสถาบันสมิธโซเนียนในกรุงวอชิงตัน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการศึกษาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลที่สูญพันธุ์ไปแล้ว
และเป็นผู้ร่วมเขียนการศึกษานี้กล่าวว่าปริมาณอาหารที่วาฬสีน้ำเงินกินในหนึ่งวันนั้นเกือบจะเท่ากับกับน้ำหนักของรถโรงเรียนหนึ่งคันที่บรรทุกนักเรียนจนเต็มคันรถเลยทีเดียว
นอกจากนี้แล้ว Savoca ยังบรรยายถึงขนาดของวาฬสีน้ำเงินว่ามีขนาดใหญ่กว่าไดโนเสาร์ที่ตัวใหญ่ที่สุด สัตว์ทะเลชนิดนี้สามารถเติบโตได้ยาวถึง 33 เมตร และหนักประมาณ 181 เมตริกตัน หรือมีขนาดเท่าเครื่องบินโบอิ้ง 737
ในการศึกษานี้ นักวิจัยได้ติดตามวาฬ 321 ตัวทั้งในมหาสมุทรแอตแลนติก แปซิฟิก และมหาสมุทรเซาธ์เทิร์นใกล้ขั้วโลกใต้ บางตัวเป็นวาฬสีน้ำเงิน ส่วนที่เหลือเป็นวาฬบาลีนอีก 6 สายพันธุ์ ซึ่งได้แก่ วาฬหลังค่อม วาฬฟิน วาฬหัวคันศร วาฬไรท์ วาฬมิงค์แอนตาร์กติก และวาฬบรูด้า นักวิทยาศาสตร์พบว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดมหึมาในมหาสมุทรเหล่านี้กินอาหารมากกว่าที่พวกเขาคิดไว้ถึงสามเท่า
ทั้งนี้ นักวิจัยต้องใช้เครื่องมือมากมายในการวัดปริมาณอาหารที่วาฬเหล่านี้กิน รวมทั้งศึกษาพฤติกรรมการกินด้วย เช่นการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดไว้ที่หลังปลาวาฬ มีการใช้กล้องถ่ายรูป ไมโครโฟน อุปกรณ์ระบุตำแหน่ง GPS ตลอดจนเครื่องมือที่ติดตามการเคลื่อนไหว นอกจากนี้ยังใช้โดรนเพื่อประเมินขนาดปากของวาฬและปริมาณอาหารที่กินได้ในแต่ละครั้ง และใช้เครื่องมือบันทึกคลื่นเสียงเพื่อประเมินปริมาณอาหารในน้ำในบริเวณซึ่งเป็นที่อยู่ของวาฬอีกด้วย
การศึกษาพบด้วยว่าวาฬบาลีนมักกินสัตว์ทะเลขนาดเล็กซึ่งรวมถึงตัวเคย ปลา หรือสัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็งหุ้มซึ่งเรียกว่าโคพพอด ส่วนวาฬตัวใหญ่ที่สุดชอบกินตัวเคย และสายพันธุ์ที่เล็กกว่า เช่น วาฬหลังค่อม วาฬบรูด้า หรือวาฬมิงค์ กินได้ทั้งปลาและตัวเคย ส่วนใหญ่แล้ววาฬบาลีนจะไม่กินตลอดทั้งปี แต่จะกินประมาณปีละ 100 วัน โดยมักจะเป็นช่วงฤดูผสมพันธุ์ในหน้าร้อน และจะกินน้อยมากในช่วงที่เหลือของปี
นอกจากนี้แล้วนักวิจัยยังศึกษาด้วยว่าวาฬขับถ่ายได้มากน้อยขนาดไหน และเนื่องจากสัตว์ทะเลดังกล่าวกินจุมากจึงผลิตของเสียได้มากกว่าที่นักวิทยาศาสตร์เคยคิดไว้ แต่ของเสียเหล่านี้ก็เป็นสารอาหารที่สำคัญสำหรับระบบนิเวศในมหาสมุทร
การที่วาฬบาลีนกินจุจนผลิตของเสียออกมามากมายนั้น เป็นการช่วยให้มีสารอาหารลอยอยู่บนผิวน้ำ สารอาหารเหล่านี้ช่วยสร้างแพลงก์ตอนพืช ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมากที่กักเก็บคาร์บอน และทำหน้าที่เป็นพื้นฐานของระบบห่วงโซ่อาหารในมหาสมุทรด้วย
อย่างไรก็ดี การล่าวาฬในช่วงศตวรรษที่ 20 ทำให้จำนวนวาฬลดลงอย่างมาก Pyenson ของสถาบันสมิธโซเนียนในกรุงวอชิงตันกล่าวว่าก่อนที่จำนวนวาฬจะลดลงจากการล่านั้น สัตว์เหล่านี้ได้ช่วยส่งเสริมระบบนิเวศในมหาสมุทรให้ดียิ่งขึ้น และว่าการส่งเสริมการฟื้นฟูประชากรวาฬอาจช่วยซ่อมแซมการทำงานของระบบนิเวศที่สูญเสียไปในช่วงร้อยปีที่ผ่านมาได้
(ที่มา: Reuters)