นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งอิตาลีได้สร้างแบตเตอรี่ต้นแบบที่สามารถกินได้และชาร์จไฟได้ โดยการใช้ผลิตภัณฑ์อาหารทั้งหมด ซึ่งอาจเป็นใบเบิกทางสู่การพัฒนาด้านพลังงาน ด้านอาหาร และด้านการแพทย์ไปพร้อมกัน
นักวิจัยในมิลาน อิตาลี ได้สร้างแบตเตอรีต้นแบบที่สามารถกินได้ ซึ่งพวกเขาหวังว่าจะสามารถปฏิวัติอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สามารถบริโภคได้ โดยนักพัฒนากล่าวว่านี่เป็นตัวอย่างแรกของแบตเตอรี่ที่ทั้งกินได้และชาร์จไฟได้
คณะนักวิจัยที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งอิตาลี (IIT) ผลิตแบตเตอรีจากผลิตภัณฑ์อาหารทั้งหมด ซึ่งประกอบไปด้วยอัลมอนด์ ลูกเคเปอร์ ถ่านชาร์โคล (activated charcoal) สาหร่าย ทองคำเปลว และขี้ผึ้ง
มาริโอ ไคโรนี ผู้ประสานงานโครงการนี้ อธิบายว่า "แกนกลางของอุปกรณ์ดังกล่าวมีขั้วไฟฟ้าอยู่สองขั้ว โดยจะต้องใช้วัสดุสองอย่าง สองโมเลกุล เพื่อให้อุปกรณ์ทำงานได้ สำหรับขั้วบวก จะใช้ไรโบฟลาวินซึ่งเป็นวิตามินที่พบได้ในอัลมอนด์ ส่วนขั้วลบ จะใช้เควอซิทิน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและพบได้ในลูกเคเปอร์
นอกจากนี้ แบตเตอรียังใช้ถ่านชาร์โคลเพื่อเพิ่มการนำไฟฟ้า ในขณะที่ตัวคั่นภายในแบตเตอรีเพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรทำจากสาหร่ายที่นิยมใช้ในการห่อซูชิ ส่วนขั้วไฟฟ้าของแบตเตอรีจะถูกหุ้มด้วยขี้ผึ้งโดยมีหน้าสัมผัสเป็นทองคำที่กินได้สองแผ่น ซึ่งรองรับด้วยฐานเซลลูโลสเพื่อเป็นตัวนำไฟฟ้า
ไคโรนีกล่าวว่า "แบตเตอรีที่กินได้นี้ช่วยให้เราสามารถกลืนอุปกรณ์ เช่น เซ็นเซอร์ เข้าไปและย่อยสลายในร่างกายของเราเหมือนกับอาหาร หลังจากที่ใช้งานเสร็จแล้ว"
นักวิจัยหวังว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่กินได้นี้จะส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อการวินิจฉัยและการรักษาอาการต่าง ๆ ในระบบทางเดินอาหาร และยังสามารถใช้ตรวจสอบคุณภาพอาหารได้อีกด้วย
โดยที่ผ่านมา อุปกรณ์ที่กินได้นั้นมีใช้อยู่แล้วในปัจจุบัน แต่ร่างกายของเราไม่สามารถย่อยได้ ซึ่งหมายความว่าหากมีปัญหาในระหว่างกระบวนการย่อยอาหาร ก็อาจต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อนำอุปกรณ์ออกมา แต่อุปกรณ์ของนักวิจัยอิตาลีชิ้นนี้สามารถย่อยได้ทั้งหมดโดยไม่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพ
นอกจากนี้ การใช้งานอื่น ๆ ที่อาจเป็นไปได้นอกเหนือจากการวินิจฉัยสุขภาพ ได้แก่ การตรวจสอบคุณภาพอาหารและการพัฒนาหุ่นยนต์แบบนิ่มที่กินได้
ทั้งนี้ แบตเตอรีต้นแบบทำงานที่ 0.65 โวลต์ ซึ่งเป็นแรงดันไฟฟ้าต่ำเกินไปที่จะทำให้เกิดปัญหาภายในร่างกายมนุษย์ และจ่ายไฟ 48 ไมโครแอมป์นานสูงสุด 12 นาที นอกจากนี้ยังสามารถจ่ายไฟให้กับหลอดไฟ LED ขนาดเล็กหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กอื่น ๆ โดยนักวิจัยกำลังพยายามเพิ่มความจุพร้อมทั้งลดขนาดอุปกรณ์ลงให้เท่ากับกล่องใส่ยาเม็ดที่สามารถกลืนได้ง่ายขึ้น
การตรวจสอบความเป็นไปได้ของแนวคิดเซลล์แบตเตอรีกินได้นี้ ได้รับการอธิบายไว้ในบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร Advanced Materials ฉบับเดือนเมษายน
- ที่มา: รอยเตอร์