ดาวเทียมสำรวจ International Sun Earth Explorer 3 หรือ ISEE 3 ถูกส่งออกไปนอกโลกเมื่อปีคริสตศักราช 1978 เพื่อศึกษาสภาวะอากาศนอกโลก
ISEE 3 ทำหน้าที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับสสารต่างๆ ที่มาจากดวงอาทิตย์ เรารู้กันดีอยู่แล้วว่าลมสุริยะสามารถสร้างความเสียหายแก่ดาวเทียมดวงต่างๆ รบกวนการทำงานของคลื่นสัญญาณวิทยุ ตลอดจนมีผลทำให้ระบบจัดส่งกระแสไฟฟ้าบนโลกทำงานล้มเหลวได้
ในช่วงต้นทศตวรรษที่ 1980 ISEE 3 ถูกสั่งการให้บินผ่านส่วนหางของดาวหางดวงหนึ่ง ไม่กี่ปีหลังจากนั้นมันได้เดินทางตัดผ่านส่วนหางของดาวหาง Halley ที่โด่งดัง อย่างไรก็ดี ดาวเทียมสำรวจดวงนี้ได้เกษียณอายุการใช้งานในปีคริสตศักราช 1997 แม้ว่านาซ่าจะตั้งเป้าหมายว่าจะควบคุมให้ ISEE 3 เดินทางเข้าไปใกล้ดวงจันทร์เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้วแต่โครงการกลับนี้ถูกหลงลืมไปในที่สุด
คุณ Keith Cowing อดีตวิศวกรแห่งนาซ่าเป็นหนึ่งในหัวหน้าโครงการ Reboot Project ที่พยายามหาทางควบคุมดาวเทียมสำรวจ ISEE 3 ให้สามารถใช้งานใหม่
นาซ่าอนุมัติโครงการนี้และพวกเขาได้รับเงินสนับสนุนก้อนหนึ่งจากการระดมทุนจากประชาชนผ่านทางหน้าเว็บไซท์ crowdsourcing คุณ Cowing ได้ตั้งทีมขึ้นมาเพื่อหาทางควมคุมและสื่อสารกับ ISEE 3 เพื่อสั่งให้ทำงานตามต้องการ
คุณ Cowing กล่าวว่า ISEE 3 ยังทำงานได้อยู่เพราะยังส่งสัญญาณคลื่นวิทยุออกมา ยังมีพลังงานอยู่แสดงว่าแผงโซล่ายังทำงานและมันยังมีเครื่อง transmitter ถึงสองเครื่องเป็นตัวสื่อสารกลับมายังโลก
แต่ดาวเทียมสำรวจ ISEE 3 ไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ติดบนยาน โครงการ Reboot Project จึงหันไปขอความช่วยเหลือจากวิศวกรที่สร้างดาวเทียมสำรวจตัวนี้เพื่อหาทางสร้างระบบควบคุมตัวใหม่ขึ้นมาแทนของเก่า
คุณ Cowing และทีมงานได้ผลิตตัว transmitter ขึ้นมาใหม่และติดตั้ง transmitter ตัวนี้ไว้บน radio telescope ที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ Arecibo Observatory ในPuerto Rico เพื่อสื่อสารกับ ISEE 3
เขากล่าวว่าทีมงานได้ทำการส่งสัญญาณไปยังตัวยานสำรวจ ISEE 3 เพื่อสั่งงานให้ส่งสัญญาณกลับมาและยานสำรวจได้ตอบสนองตามคำสั่ง ซึ่งถือเป็นความสำเร็จ ต่อมาทีมงานได้ส่งคำสั่งเพิ่มเติมไปยังตัวยานให้ทำงานอีกหลายอย่าง
แต่ความพยายามในการสั่งให้ระบบขับเคลื่อนของตัวดาวเทียมสำรวจให้ติดเครื่องอีกครั้งเพื่อขับเคลื่อนตัวยานกลับเข้าไปสู่วงโคจรใหม่รอบโลกยังไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากมีปริมาณแก๊สเหลือไม่พอที่จะติดเครื่องยนต์ระบบขับเคลื่อนได้
อย่างไรก็ตาม ทีมงาน Reboot Project พอใจมากที่อุปกรณ์อย่างอื่นบนตัวยานยังทำงานได้ มันเคยบินเข้าไปใกล้ดวงจันทร์มาแล้วในระยะห่าง 13,000-14,000 กิโลเมตร แม้ว่าทีมงาน Reboot Project จะไม่สามารถปรับเปลี่ยนเส้นทางโคจรของดาวเทียมตัวนี้ได้อย่างที่ต้องการ แต่ยานสำรวจ ISEE 3 ก็มีประโยชน์เพราะยังส่งข้อมูลทางวิทยาศาสตร์กลับมายังโลก
ดาวเทียมสำรวจ ISEE 3 พิสูจน์ให้เห็นว่าการออกแบบที่เรียบง่ายสามารถใช้งานได้ดี แม้ว่าแก๊สจะหมดและแบตเตอรี่จะตาย ตัวยานยังทำงานได้เพราะแผงโซล่ายังทำงานแปลงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าได้อยู่ คุณ Cowing กล่าวว่าข้อมูลที่ได้จาก ISEE 3 เป็นข้อมูลออนไลน์ฟรีแก่คนที่สนใจ ดาวเทียมสำรวจนอกโลกดวงนี้จะโคจรมาใกล้กับโลกอีกครั้งในปีคริสตศักราช 2029