นายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ตำหนิยูเครนและชาติพันธมิตรว่าสนับสนุน “ลัทธินีโอนาซี” ในยูเครน ในขณะที่ยูเครนและชาติตะวันตกระบุว่า รัสเซียโจมตีเมืองต่างๆ ในยูเครน “อย่างไร้เหตุผล”
ผู้เข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติส่วนใหญ่ลุกออกจากที่ประชุมขณะที่ รมต. ลาฟรอฟ เริ่มแถลง โดยที่เขาไม่ทราบถึงบรรยากาศดังกล่าว เนื่องจากเขาต้องแถลงผ่านทางวิดีโอแทนการเข้าประชุมด้วยตนเองตามที่ตั้งใจไว้
รมต. ลาฟรอฟ กล่าวหาสหภาพยุโรปว่าเข้าแทรกแซงสิทธิเสรีภาพในการเดินทางของเขา โดยไม่อนุญาตให้เขาบินผ่านน่านฟ้ายุโรปมายังนครเจนีวา หลังจากนั้น เขาใช้เวลาอีก 20 นาทีโจมตีนโยบายของชาติตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ ที่เขาอ้างว่า ทำให้รัฐบาลยูเครนทำสงครามกับประชาชนของตนมาตั้งแต่ปีค.ศ. 2014
รัฐมนตรีผู้นี้กล่าวหารัฐบาลยูเครนว่าก่ออาชญากรรมและทำสงครามนานแปดปีกับชาวรัสเซียและประชาชนที่ใช้ภาษารัสเซียในเขตปกครองดอแนตสก์และลูฮันสก์
คำกล่าวของ รมต. ลาฟรอฟนี้ขัดแย้งกับจุดยืนส่วนใหญ่ของนานาชาติ เขากล่าวว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ไม่สามารถนิ่งเฉยต่อชะตากรรมของชาวรัสเซียและประชาชนในเขตปกครองดังกล่าวได้ ผู้นำรัสเซียจึงรับรองเอกราชของเขตปกครองทั้งสอง และใช้ “ปฏิบัติการทางทหารพิเศษ” เพื่อปกป้องประชาชนในเขตดังกล่าว
ปธน. ปูตินเองเคยใช้เหตุผลดังกล่าวเพื่อสร้างความชอบธรรมในการบุกรุกยูเครนเช่นกัน ในขณะที่ชาติตะวันตกกลับเห็นว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลเท็จ และโต้ตอบรัสเซียด้วยการออกมาตรการลงโทษ
รมต. ลาฟรอฟโจมตีชาติตะวันตก โดยระบุว่า ชาติตะวันตกระบายความโกรธมายังรัสเซียถึงขนาดทำลายสถาบันและกฎทั้งหมดที่เคยสร้างมา รวมถึงกฎการไม่ละเมิดทรัพย์สินของตัวแทนทางการทูต เขายังย้ำด้วยว่า ความเท่าเทียมกันของอธิปไตยเป็นหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ
นายแอนโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ เห็นแย้งต่อการอ้างกฎบัตรสหประชาชาติดังกล่าว โดยระบุว่า “เอกราช” ของเขตปกครองดอแนตสก์และลูฮันสก์เป็นการละเมิดบูรณภาพทางชายแดนและอธิปไตยของยูเครน เขายังระบุด้วยว่า การรับรองเอกราชนี้ไม่สอดคล้องกับหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ
ขณะที่ รมต. ลาฟรอฟแถลงนั้น ชาเบีย แมนตู โฆษกของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ระบุว่า จำนวนผู้ลี้ภัยชาวยูเครนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยข้อมูลล่าสุดที่รวบรวมโดย UNHCR เผยว่า ในช่วงหกวันที่ผ่านมา มีผู้ลี้ภัยกว่า 660,000 คน ลี้ภัยจากยูเครนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และอาจเป็นวิกฤตผู้อพยพครั้งใหญ่ที่สุดของยุโรปในศตวรรษนี้ ขณะที่ UNHCR ใช้ทรัพยากรเพื่อรับมือกระแสผู้อพยพอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
โฆษก UNHCR ยังระบุด้วยว่า ผู้อพยพส่วนใหญ่หนีไปยังโปแลนด์ ฮังการี มอลโดวา โรมาเนีย และสโลวาเกีย ในขณะที่บางส่วนไปยังประเทศยุโรปอื่นๆ และมีอีกจำนวนมากที่หนีไปยังรัสเซีย โดยรัฐบาลของประเทศเหล่านี้เป็นผู้รับผิดชอบดูแลผู้ลี้ภัย
- รายงานโดย ผู้สื่อข่าววีโอเอ Lisa Schlein