ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ตรวจสอบข่าว: รัสเซียปั่นข้อมูลนักมวย 'เคลิฟ’ มุ่งถล่มโอลิมปิก 2024 จริงหรือไม่


อิมาน เคลิฟ นักมวยหญิงทีมชาติแอลจีเรีย
อิมาน เคลิฟ นักมวยหญิงทีมชาติแอลจีเรีย

หนึ่งในคลิปวิดีโอที่เป็นไวรัลและมีเนื้อหาโจมตีการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปีนี้เป็นมิวสิควิดีโอที่มาภาพนักแสดงซึ่งมีหน้าตาคล้ายประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาคร็องอยู่ด้วย และมีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) สร้างภาพของหนู กองขยะและท่อระบายน้ำประกอบด้วย เพื่อพยายามสื่อว่า กรุงปารีสนั้นเป็นแหล่งสกปรกโสมมและเต็มไปด้วยอาชญากรรม

สำนักข่าวเอพีระบุว่า เนื้อเพลงในมิวสิควิดีโอที่ว่าก็มีการเอ่ยถึง กรุงปารีส แม่น้ำแซน และการธุระเบาลงแม่น้ำ โดยมีนักแสดงหน้าตาคล้ายมาคร็องเต้นประกอบอยู่ โดยทั้งหมดนี้เป็นการเอ่ยอ้างถึงความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพน้ำในแม่น้ำแซนที่เป็นสถานที่จัดการแข่งขันกีฬาบางประเภท

คลิปนี้โจมตีและล้อเลียนการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกนี้ถูกเผยแพร่ออกไปอย่างรวดเร็วตามแพลตฟอร์มต่าง ๆ ทั้ง ยูทูบ (YouTube) และเอ็กซ์ (X) โดยมีบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ปลอม (บอต) ราว 30,000 บัญชีที่มีความเกี่ยวเนื่องกับกลุ่มกระจายข้อมูลบิดเบือนชื่อกระฉ่อนของรัสเซียกลุ่มหนึ่งที่เปิดฉากโจมตีฝรั่งเศสมาระยะหนึ่งแล้ว และภายในไม่กี่วัน คลิปนี้ก็ถูกแปลออกไปถึง 13 ภาษาด้วยฝีมือของระบบ AI

รายงานข่าวนี้ยังกล่าวด้วยว่า กรุงมอสโกไม่ยอมปล่อยโอกาสให้ตนถูกลืมจากการแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงปารีสแม้แต่น้อย โดยรัฐบาลมอสโกใช้กระบวนการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนและแผนงานโฆษณาชวนเชื่อทางออนไลน์กระจายคำกล่าวอ้างเพื่อก่อกวนสร้างความไม่สงบและโจมตีฝรั่งเศส

และในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เครือข่ายขบวนการข้อมูลบิดเบือนที่ใกล้ชิดกับเครมลินได้ฉวยโอกาสนำประเด็นที่มีการถกเถียงและเห็นต่างกว้างขวางเกี่ยวกับ อิมาน เคลิฟ นักมวยหญิงทีมชาติแอลจีเรีย ขึ้นมาปั่นโจมตีมหกรรมกีฬาโลกนี้

เคลิฟนั้นถูกตั้งคำถามเรื่องเพศสภาพ โดยเป็นการกล่าวอ้างโคมลอยว่า เธอเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงข้ามเพศ หลังสมาคมมวยสากลที่มีสายสัมพันธ์กับรัสเซียและตกเป็นเป้าถกเถียงกันจากหลายกรณี ออกมาอ้างว่า เคลิฟไม่ผ่านการตรวจคุณสมบัติซึ่งเป็นกระบวนการที่ไม่โปร่งใส ก่อนขึ้นชกเวทีเวิลด์แชมเปียนชิพส์เมื่อปีที่แล้ว

ในครั้งนี้ เครือข่ายรัสเซียออกมาปั่นประเด็นนี้อย่างหนักจนกลายมาติดเทรนด์ทางออนไลน์อย่างรวดเร็ว ขณะที่ สื่ออังกฤษและผู้มีชื่อเสียง เช่น เจ.เค. โรว์ลิง ผู้แต่งหนังสือชุดแฮร์รี พอตเตอร์ รวมทั้งนักการเมืองฝ่ายขวาหลายคน ซึ่งรวมถึง โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาให้ความเห็นวิจารณ์เคลิพกันอย่างมากมาย

การวิเคราะห์โดย PeakMetrics ซึ่งเป็นบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ที่ติดตามความเป็นไปในโลกออนไลน์ระบุว่า เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว มีผู้ใช้งานแพลตฟอร์มเอ็กซ์โพสต์ประเด็นเกี่ยวกับนักมวยผู้นี้ถึงหลายหมื่นครั้งต่อชั่วโมงเลยทีเดียว

องค์กรที่เริ่มต้นเรื่องนี้คือ สมาคมมวยสากลนานาชาติ (International Boxing Association – IBA) ที่ถูกขับออกจากการเป็นส่วนหนึ่งของโอลิมปิกเป็นการถาวร โดยสมาคมนี้มีประธานเป็นคนรัสเซียซึ่งเป็นพันธมิตรของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน และบริษัทก๊าซพรอม (Gazprom) รัฐวิสาหกิจใหญ่ของรัสเซียเป็นสปอนเซอร์รายใหญ่ที่สุด

ทั้งนี้ มีคนตั้งคำถามเกี่ยวกับการประกาศตัดสิทธิ์เคลิฟไม่ให้ขึ้นชก หลังนักมวยแอลจีเรียผู้นี้เอาชนะนักมวยจากรัสเซียไปได้

กอร์ดอน โครวิตซ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง NewsGuard ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลเท็จในโลกออนไลน์ ให้ความเห็นว่า การที่คณะกรรมการโอลิมปิกอนุญาตให้นักกีฬาไม่กี่คนของรัสเซียเข้าร่วมการแข่งขันได้ในฐานะนักกีฬาไร้ประเทศโดยห้ามไม่ให้เข้าแข่งกีฬาประเภททีม คือ เหตุผลที่ทำให้เครมลินยิ่งออกมาทำการปลุกปั่นข้อมูลบิดเบือนโจมตีฝรั่งเศส

โครวิตซ์บอกด้วยว่า แผนงานข้อมูลบิดเบือนโดยรัสเซียที่พุ่งเป้าไปยังการแข่งขันโอลิมปิกปีนี้แสดงให้เห็นถึงความสามารถด้านเทคนิคของรัสเซียที่โดดเด่นขึ้นอย่างมาก โดยระบุว่า “สิ่งที่ต่างออกไปในตอนนี้คือ พวกเขาอาจเป็นผู้ใช้งานที่ล้ำสมัยที่สุดสำหรับระบบ AI ที่สร้างเนื้อหาเองได้ (generative AI) เพื่อจุดประสงค์ในการใส่ร้ายป้ายสีต่าง ๆ ผ่านคลิปวิดีโอ ดนตรีและเว็บไซต์ปลอมทั้งหลาย”

ตัวอย่างผลงานการใช้บัญชีปลอมผนวกความสามารถของ AI จากทีมงานรัสเซียที่มีการแพร่กระจายออกมาเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนก็คือ คำประกาศจากสำนักงานข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ (CIA) และกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่ออกมาเตือนชาวอเมริกันไม่ให้ใช้บริการรถไฟใต้ดินในกรุงปารีส ซึ่งในความเป็นจริง หน่วยงานทั้งสองไม่ได้ออกคำเตือนเช่นนั้นเลย

ขณะเดียวกัน สื่อรัฐของรัสเซียยังมุ่งหน้าทำข่าวที่ใช้ข้อมูลเท็จและข้อมูลที่ทำให้สังคมเข้าใจผิดเกี่ยวกับโอลิมปิกในปีนี้ แทนที่จะรายงานข่าวเรื่องการแข่งขันทางกีฬา โดยเน้นประเด็นอาชญากรรม ผู้อพยพเข้าเมือง ขยะและมลพิษเป็นหลัก

จริง ๆ แล้วรัสเซียใช้แผนงานโฆษณาชวนเชื่อเพื่อป้ายสีการแข่งขันโอลิมปิกในอดีตมาก่อนแล้ว เช่น ในยุคอดีตสหภาพโซเวียตที่มีการคว่ำบาตรการร่วมแข่งขันที่นครลอสแอนเจลิสเป็นเจ้าภาพในปี 1984 โดยในครั้งนั้น โซเวียดเผยแพร่ข้อมูลสิ่งพิมพ์ไปให้เจ้าหน้าที่โอลิมปิกในแอฟริกาและเอเชีย พร้อมเนื้อหาว่า นักกีฬาที่ไม่ใช่คนผิวขาวจะถูกพวกเหยียดผิวไล่ล่าถ้ามาถึงสหรัฐฯ ตามข้อมูลการวิเคราะห์ของ Microsoft Threat Intelligence ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำแห่งนี้ซึ่งศึกษาบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ทำการมุ่งร้าย (bad actors) ต่าง ๆ ในโลกอออนไลน์

นักวิเคราะห์ของไมโครซอฟท์สรุปความด้วยว่า หากรัสเซียไม่ได้ร่วมแข่งหรือชนะการแข่งขัน ก็จะใช้วิธีการบ่อนทำลาย ป้ายสีและทำให้ภาพลักษณ์ของการแข่งขันระดับนานาชาตินี้ดูเสื่อมเสียในสายตาของผู้ร่วมแข่งขัน ผู้ชมและผู้ที่ติดตามจากทั่วโลก

เอพีได้ติดต่อไปยังรัฐบาลมอสโกเพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ไม่ได้รับการตอบกลับมาก่อนจะมีการตีพิมพ์รายงานนี้เมื่อวันจันทร์

  • ที่มา: เอพี

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG