สถานการณ์ที่รัสเซียส่งกองทัพเข้ารุกรานยูเครน และภาวะการแข่งขันช่วงชิงอิทธิพลกับจีน คือ ประเด็นหลักที่ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เตรียมนำขึ้นมาหารือ ระหว่างการเดินทางร่วมประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศจากประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด 20 ประเทศ หรือ จี-20 ที่จะจัดขึ้นที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ในสัปดาห์นี้
ก่อนที่ รมต.บลิงเคน จะออกเดินทางไปร่วมการประชุมที่บาหลีในวันพุธ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ออกแถลงการณ์ที่ระบุว่า “นอกจากการนัดหมายต่าง ๆ ของกลุ่มจี-20 แล้ว รมต.(บลิงเคน) จะเข้าร่วมประชุมทวิภาคีกับรัฐมนตรีต่างประเทศ เร็ตโน มาร์ซูดี แห่งอินโดนีเซีย ด้วย ในส่วนของนัดหมายในระดับทวิภาคีอื่น ๆ รมต.บลิงเคน จะพบกับรัฐมนตรีต่างประเทศจีน หวัง อี้ ในช่วงจัดการประชุมจี-20 เช่นกัน”
ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แดเนียล คริตเทนบริงค์ เปิดเผยว่า ประเด็นที่ รมต.บลิงเคน จะหยิบยกขึ้นมาหารือกับรมต.หวัง ของจีนนั้น น่าจะเป็นเรื่องของความร่วมมือด้านการจัดการกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง สถานการณ์ด้านสาธารณสุขโลก การต่อต้านการค้ายาเสพติด และสถานการณ์ในเมียนมา
ผู้ช่วย รมต.คริตเทนบริงค์ บอกกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันอังคารด้วยว่า สหรัฐฯ ต้องการที่จะจัดการกับประเด็น “การแข่งขันอันดุเดือด” กับจีน โดยต้องมีการจัดตั้งสิ่งที่เป็นเหมือน “ราวกันตก” เพื่อช่วยป้องกันความขัดแย้งที่ไม่ได้ตั้งใจให้เกิดขึ้นด้วย
และแม้ยูเครนจะไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มจี-20 รัฐมนตรีต่างประเทศ ดมิโทร คูเลบา แห่งยูเครน ได้รับเชิญมาร่วมงานด้วย หลังกรุงเคียฟได้รับสถานภาพผู้สมัครเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) โดย รมต.คูเลบา กล่าวว่า ได้มีการประสานงานกับ โจเซพ บอร์เรลล์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของอียู เพื่อมาร่วมการประชุมรัฐมนตรีที่บาหลีแล้ว
รมต.ต่างประเทศยูเครน ทวีตข้อความที่ระบุว่า การพูดคุยกับหัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของอียูนั้นได้ข้อสรุปความเห็นที่ตรงกันว่า อียู จำเป็นต้องดำเนินมาตรการลงโทษรอบที่ 7 ต่อรัสเซีย และทั้งสองฝ่ายกำลังเร่งทำเรื่องนี้อยู่
เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวว่า สงครามในยูเครนที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของรัสเซียนั้นได้สั่นคลอนเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลก และกรุงวอชิงตันจะไม่ยอมลดแรงกดดันใด ๆ ต่อเครมลิน จนกว่ารัสเซียจะยุติการใช้กำลังทหารรุกรานของตน
อย่างไรก็ตาม รมต.บลิงเคน ไม่มีกำหนดการประชุมอย่างเป็นทางการกับรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ ระหว่างการเยือนบาหลีในครั้งนี้
สหรัฐฯ-จีน
การประชุมระหว่าง รมต.บลิงเคน และรมต.หวัง จะเป็นการพบกันตัวต่อตัวครั้งแรกของทั้งสอง นับตั้งเมื่อรมต.ต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศแผนยุทธศาสตร์ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพื่อเอาชนะการแข่งขันด้านต่าง ๆ กับจีนเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ในการประกาศครั้งนั้น รมต.บลิงเคน กล่าวว่า สหรัฐฯ ไม่ได้พยายามที่จะตีตัวออกห่างจากจีน และความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองนั้น ไม่ใช่เป็นไปเรื่องของเกมผลรวมเป็นศูนย์ (zero-sum game)
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ไม่พบการบ่งชี้ว่า จีนจัดส่งความช่วยเหลือใด ๆ ให้กับรัสเซียเดินทางทำสงครามในยูเครน แต่ก็เตือนถึง “ผลลัพธ์ที่จะตามมา” ถ้าหากรัฐบาลกรุงปักกิ่งจะตัดสินใจช่วยมอสโก
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เพิ่งเพิ่มชื่อบริษัทอีก 5 แห่งของจีนเข้าไปในบัญชีดำที่มีรายชื่อบุคคลและองค์กรที่ถูกกล่าวหาว่า ให้การสนับสนุนปฏิบัติการทางทหารและอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศของรัสเซีย
แต่สมาชิกสภาคองเกรสสังกัดพรรครีพับลิกันบางรายกล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลปธน.ไบเดนดำเนินการไปนั้น ยังไม่เพียงพอ
ไมเคิล แม็คคอล หัวหน้าสมาชิกพรรครีพับลิกันในคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรด้านกิจการต่างประเทศ กล่าวว่า “แนวคิดอันอ่อนปวกเปียกที่ว่าด้วย ‘ผลลัพธ์ที่จะตามมา’” ของรัฐบาลปธน.ไบเดนนั้น จะไม่ได้ช่วยยับยั้งจีนให้หยุดสนับสนุนสงครามของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ได้เลย และเรียกร้องให้มี “การลงโทษอย่างมีนัยสำคัญ” ต่อบริษัทต่าง ๆ ที่ละเมิดมาตรการลงโทษและให้ความช่วยเหลือรัสเซียด้วย
ความคิดเห็นที่แตกต่างในกลุ่มจี-20 เกี่ยวกับสงครามในยูเครน
การที่รัสเซียเข้าร่วมการประชุมจี-20 ด้วยนั้นเป็นประเด็นตึงเครียดในหมู่ประเทศสมาชิกที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มประเทศจี-7 และประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อื่น ๆ มาสักพักแล้ว
สมาชิกหลายราย โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มจี-7 ออกมาประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซียอย่างหนักหน่วง และแสดงจุดยืนสนับสนุนการดำเนินมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อมอสโกเสมอมา แต่สมาชิกกลุ่มจี-20 เช่น จีนและอินเดีย เลือกที่จะไม่ของดออกเสียงสนับสนุนมติองค์การสหประชาชติที่เกี่ยวกับรัสเซียและหลีกเลี่ยงที่จะประณามรัสเซียมาตลอดเวลา
ปธน.ไบเดน กล่าวว่า รัสเซียไม่ควรเป็นสมาชิกกลุ่มจี-20 อีกต่อไป แต่จีน บราซิล และแอฟริกาใต้ ซึ่งล้วนเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ร่วมกับรัสเซีย ต่างออกมาคัดค้านข้อเสนอถอดรัฐบาลกรุงมอสโกออกจากกลุ่ม
ขณะเดียวกัน สมาชิกจี-20 บางประเทศ กล่าวว่า ความแตกแยกในกลุ่มที่เริ่มชัดเจนขึ้นเพราะกรณีที่รัสเซียส่งกองทัพรุกรานยูเครน ไม่ควรเป็นประเด็นที่มาบดบังแก่นสำคัญของการประชุมในปีนี้ ซึ่งก็คือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดใหญ่เป็นวงกว้างของโควิด-19
รัฐบาลอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประธานหมุนเวียนกลุ่มจี-20 ในปีนี้ กล่าวว่า ตนจะขอคงไว้ซึ่งนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระและจะไม่ขอเข้าข้างมหาอำนาจฝ่ายใด
และความลังเลที่จะกันปธน.ปูติน ออกจากการประชุมสุดยอดจี-20 สะท้อนให้เห็นถึงจุดยืนของอินโดนีเซียที่ไม่ต้องการถูกมองว่าเลือกข้าง และเพื่อจะมุ่งความสนใจไปที่ประเด็นการฟื้นฟูของเศรษฐกิจหลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ผ่านพ้นไปเท่านั้น
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด้ กลายมาเป็นผู้นำเอเชียคนแรกที่ได้เยือนทั้งรัสเซียและยูเครน โดยหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจแล้ว ผู้นำอินโดนีเซียกล่าวว่า ปธน.ปูติน ตกลงที่จะ “ให้การรับรองด้านความมั่นคงปลอดภัยสำหรับการนำส่งอาหารและปุ๋ยออกจากทั้งรัสเซียและยูเครน” ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับปัญหาวิกฤตอาหารโลกในเวลานี้
ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เออร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ ZDF ของเยอรมนีเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า การที่ปธน.ปูติน อาจจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำจี-20 ในเดือนพฤศจิกายนไม่ควรจะกลายมาเป็นเหตุผลให้ผู้นำชาติตะวันตกคว่ำบาตรการประชุม หรือ “ทำให้กลุ่มจี-20 ทั้งกลุ่มกลายมาเป็นอัมพาต” เลย เพราะกลุ่มจี-20 นั้นมีความสำคัญต่อประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเกิดใหม่ทั้งหลายอย่างมาก “เกินกว่าจะปล่อยให้ปูตินมาล้มกลุ่มนี้”
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมระดับรัฐมนตรีของกลุ่มจี-20 ในสัปดาห์นี้ ไม่มีกำหนดการออกเอกสารอย่างเป็นทางการหรือแถลงการณ์ร่วมใด ๆ ทั้งสิ้น
สหรัฐฯ-ไทย
หลังการร่วมประชุมจี-20 แล้ว รมต.บลิงเคน จะเดินทางต่อไปยังกรุงเทพฯ เพื่อหารือประเด็นการขยายความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ และไทยเกี่ยวกับงานด้านสาธารณสุขและการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน รวมทั้งประเด็นการหาทางแก้ไขวิกฤตด้านมนุษยธรรมในเมียนมาที่ดำเนินมาตั้งแต่หลังเกิดการก่อรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ของปีที่แล้ว ตามข้อมูลที่ได้รับการเปิดเผยจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ
แถลงการณ์ของกระทรวงฯ ระบุว่า “ที่กรุงเทพฯ รมต.บลิงเคนจะเข้าพบนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ดอน ปรมัตถ์วินัย เพื่อหารือในหลายประเด็น อาทิ การต่อยอดความสำเร็จของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค 2022 ในช่วงปี 2023 ที่เรา(สหรัฐฯ) จะเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค”
ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นพันธมิตรหลักด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชีย โดยทั้งสองประเทศลงนามข้อตกลงแลกเปลี่ยนข้อมูลสำคัญเมื่อเดือนที่แล้ว หลังมีการหารือยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศระหว่างสหรัฐฯ กับไทยเป็นครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม ซึ่งสหรัฐฯ และประเทศไทยตกลงที่จะขยายความร่วมมือในด้านความมั่นคงทางไซเบอร์และการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดเป็นวงกว้างของโควิด-19
พอล เชมเบอร์ส ที่ปรึกษาด้านกิจการระหว่างประเทศ ของวิทยาลัยประชาคมอาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ปัจจุบัน สหรัฐฯ ยังคงเป็นหุ้นส่วนด้านความมั่นคงที่มีความสำคัญลำดับต้น ๆ ของไทย แม้ว่าจีนจะพยายามก้าวขึ้นมาเทียบเคียงอยู่ก็ตาม โดยฝ่ายไทยได้พยายามสร้างสมดุลสำหรับความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างทั้งสองมหาอำนาจอยู่ด้วย
เชมเบอร์ส บอกกับผู้สื่อข่าว วีโอเอ ว่า กองทัพอากาศไทยกำลังพยายามซื้อเครื่องบินรบ F-35 จำนวน 8 ลำจากสหรัฐฯ แต่กรุงวอชิงตันกังวลว่า เทคโนโลยีล้ำสมัยของ F-35 อาจรั่วไหลออกไปได้ เพราะกองทัพไทยนั้นมีความใกล้ชิดกับกรุงปักกิ่งอยู่
- ที่มา: วีโอเอ