เจ้าหน้าที่ทางการรัสเซียออกมาปฏิเสธในวันอังคาร ต่อข้อกล่าวหาว่า โครงการทดสอบอาวุธของตนทำให้นักบินอวกาศประจำสถานีอวกาศนานาชาติตกอยู่ในอันตราย
คำปฏิเสธของรัสเซียที่มีออกมานั้น เป็นการตอบโต้คำกล่าวหาของเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เมื่อวันจันทร์ว่า การที่รัสเซียเดินหน้าโครงการทำลายดาวเทียมดวงเก่าด้วยการยิงขีปนาวุธ ซึ่งทำให้เกิดขยะอวกาศกว่า 1,500 ชิ้น เป็นการกระทำที่ประมาทและขาดความรับผิดชอบ เพราะขยะที่ว่านั้นสร้างความเสียหายให้กับตัวสถานีอวกาศนานาชาติที่โคจรอยู่รอบโลกด้วยความเร็วราว 28,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
บิล เนลเซน ผู้บริหารองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซ่า บอกกับ เอพี ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้นักบินอวกาศต้องตกอยู่ในภาวะเสี่ยงกว่าปกติถึง 4 เท่าเลยทีเดียว
ขณะเดียวกัน แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุในแถลงการณ์ว่า การทดสอบอาวุธของรัสเซียแสดงให้เห็นว่า แม้รัฐบาลเครมลิน “จะอ้างว่าตนต่อต้านการเสริมสร้างอาวุธในพื้นที่นอกโลก (รัสเซีย)กลับยังดูยินดีที่จะ...ทำให้งานด้านการสำรวจและใช้ประโยชน์พื้นที่ในอวกาศของประเทศต่างๆ ตกอยู่ในอันตราย ด้วยพฤติกรรมที่ขาดความรับผิดชอบและประมาทเลินเล่อ”
รอสคอสมอส (Roscosmos) ซึ่งเป็นหน่วยงานดูแลกิจการด้านอวกาศของรัสเซีย ไม่ยืนยันหรือปฏิเสธรายงานการยิงดาวเทียมที่ว่านี้ และระบุในคำแถลงที่ออกมาในวันอังคารเพียงว่า “ความปลอดภัยโดยไม่มีเงื่อนไข ของลูกเรือ(ประจำสถานีอวกาศนานาชาติ) คือและยังคงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญลำดับต้นๆ ของเรา”
อย่างไรก็ดี กระทรวงกลาโหมรัสเซียออกมายืนยันในวันอังคารด้วยว่า รัสเซียทำการทดสอบการยิงและการทำลายดาวเทียมที่ปลดระวางหลังทำหน้าที่โคจรรอบโลกมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1982 พร้อมย้ำว่า “สหรัฐฯ ทราบดีว่า เศษซากต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ได้และจะไม่ก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อสถานีอวกาศนานาชาติที่โคจรอยู่ ยานอวกาศ และกิจกรรมในอวกาศต่างๆ” ทั้งยังกล่าวว่า สิ่งที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ออกมาพูดนั้นเป็นเรื่อง “ปากว่าตาขยิบ”
ขณะเดียวกัน เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย กล่าวว่า การที่สหรัฐฯ กล่าวหาว่า รัสเซียสร้างความเสี่ยงต่อกิจกรรมสันติต่างๆ ในอวกาศนั้น เป็น “กรณีมือถือสาก ปากถือศีล” เช่นกัน
รายงานข่าวระบุว่า หลังมีการยืนยันเกี่ยวกับการยิงทดสอบของรัสเซียในวันจันทร์แล้ว นักบินอวกาศชาวอเมริกัน 4 นาย รวมทั้งนักบินชาวเยอรมัน 1 ราย และนักบินชาวรัสเซียอีก 2 รายที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่สถานีอวกาศนานาชาติ ได้รับคำสั่งให้ทำการหลบภัยภายในแคปซูลของตน ซึ่งดำเนินเป็นเวลานานถึง 2 ชั่วโมง
ศูนย์ควบคุมของนาซ่า เปิดเผยว่า ภัยคุกคามที่สูงขึ้นนี้อาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และภารกิจอื่นๆ ของนักบินอวกาศได้ด้วย
ทั้งนี้ จีนเคยทำการทดสอบอาวุธแบบเดียวกันนี้เมื่อปี ค.ศ. 2007 ซึ่งส่งผลให้เกิดเศษขยะจำนวนนับไม่ถ้วนในห้วงอวกาศ และมีเศษชิ้นหนึ่งเพิ่งเข้ามาใกล้จนเกือบก่อความเสียหายให้กับสถานีอวกาศนานาชาติเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก่อนที่ นาซ่า จะออกมายืนยันว่า ตัวสถานีได้เคลื่อนออกจากจุดล่อแหลมจนพ้นภัยความเสี่ยงดังกล่าวในเวลาต่อมา