รัฐบาลชาติตะวันตกยังคงจับตาดูความเป็นไปต่างๆ และ กิจกรรมทางทหารของรัสเซียอย่างต่อเนื่อง หลังมีประกาศจากกระทรวงกลาโหมรัสเซียเมื่อวันเสาร์ที่ระบุว่า กองกำลังจำนวน 10,000 นายของตนที่ประจำอยู่ตามชายแดนยูเครนจะกลับเข้าฐานทัพถาวรแล้ว
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ระบุว่า รัสเซียยินดีเจรจากับสหรัฐฯ และองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต้ ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นหลังกองกำลังรัสเซียกว่า 100,000 นายประจำการใกล้ชายแดนยูเครน
ในวันจันทร์ นายเซอร์กีย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ว่า รัสเซียยังคงรอท่าทีจากนาโต้ถึงเงื่อนไขต่างๆ ของการเจรจา โดยรัสเซียหวังว่าชาติตะวันตกจะรับประกันความมั่นคงให้แก่รัสเซีย โดยเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมและเหล่านายพลของรัสเซียจะเข้าร่วมการเจรจาด้วย
นายลาฟรอฟระบุว่า การเจรจากับทางสหรัฐฯ อาจมีขึ้นทันทีหลังวันสิ้นปี แต่รัสเซียยังคงรอข้อตกลงเกี่ยวกับเงื่อนไขการเจรจาจากทางนาโต้อยู่
การรับประกันทางความมั่นคงที่ผู้นำรัสเซียเรียกร้องนั้น รวมถึงการไม่ให้นาโต้ขยายฐานทัพและให้นาโต้ลดกองทัพในกลุ่มประเทศบอลติกหรือยุโรปตะวันออกกลางที่เข้าร่วมนาโต้ตั้งแต่ปีค.ศ. 1999 โดยรัสเซียยืนยันว่า ยูเครนหรือจอร์เจีย ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตมาก่อน ไม่ควรเข้าร่วมนาโต้
ขณะที่สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรนาโต้ระบุว่ายินดีเจรจากับรัสเซีย แต่บรรดานักการทูตจากชาติตะวันตกเตือนว่า ไม่ควรยอมรับข้อเสนอด้านความมั่นคงของรัสเซียในขณะนี้ เช่น นางคาเรน ดอนฟรีด ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า การเจรจาอาจมีแนวโน้มที่ดีขึ้นหากรัสเซียลดการเพิ่มกองทัพตามชายแดนยูเครน
นางดอนฟรีดระบุว่า การเจรจากับรัสเซียต้องระบุถึงข้อกังวลจากนาโต้ และข้อกังวลอื่นๆ ถึงพฤติกรรมคุกคามของรัสเซียบนพื้นฐานหลักการของความมั่นคงในยุโรป และสหรัฐฯ จะไม่ผ่อนปรนต่อหลักการเหล่านี้ รวมถึงหลักการที่ว่าทุกประเทศมีสิทธิกำหนดนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงด้วยตนเองโดยปราศจากการแทรกแซงจากภายนอก
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และนาโต้ ต่างยืนยันว่า เป็นการไม่สมเหตุสมผลหากรัสเซียต้องการใช้อำนาจยับยั้งทิศทางนโยบายต่างประเทศของยูเครนหรือประเทศอื่นๆ
ประเทศตะวันตกยังกังวลด้วยว่า รัสเซียยังอาจพิจารณารุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบ เว้นแต่ว่านาโต้จะยอมทำตามข้อเรียกร้องของรัสเซีย ทั้งนี้ สหรัฐฯ และชาติตะวันตกแสดงความกังวลว่า รัสเซียจะกระทำการคล้ายกับเมื่อปีค.ศ. 2014 ที่รัสเซียผนวกแคว้นไครเมียและใช้ตัวแทนติดอาวุธยึดพื้นที่ขนาดใหญ่ในภูมิภาคดอนบัสของยูเครน
การประกาศถอนกำลังของรัสเซียตามชายแดนยูเครนเมื่อวันเสาร์ เป็นการถอนกำลังเพียงร้อยละ 10 จากทั้งหมด 122,000 นายตาม ตามการคำนวณของหน่วยข่าวกรองจากชาติตะวันตกและยูเครน โดยเจ้าหน้าที่กองทัพรัสเซียระบุว่า มีการถอนกองทัพหลังเสร็จสิ้นการฝึกเพื่อรับมือ “การโจมตีทางอากาศอย่างหนัก” ต่อรัสเซียแล้ว
นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงของประเทศตะวันตกระบุว่า กองกำลังรัสเซียถูกถอนออกจากพื้นที่ทางตอนใต้ซึ่งมีความสำคัญทางทหารน้อยกว่า ในขณะที่ยังไม่มีสัญญาณว่า จะมีการถอนกองกำลังหรือยุทโธปกรณ์จากพื้นที่ตามชายแดนทางด้านเหนือหรือตะวันออกเฉียงเหนือของยูเครน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่รัสเซียมีโอกาสโจมตีมากที่สุด
การเคลื่อนกองกำลังแบบกลับไปกลับมา รวมถึงท่าทีจากรัสเซียและตัวของปธน. ปูตินเองที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ชาติตะวันตกวิตกกังวล โดยประเทศเหล่านี้พยายามประเมินเจตนาของผู้นำรัสเซีย และพยายามรักษาเอกภาพของกลุ่มไว้ ขณะที่กำลังพิจารณาว่า ควรร่วมมือหรือรักษาระยะห่างกับรัสเซียในระดับใด
เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ ผู้นำรัสเซียระบุว่า รัสเซียจะใช้ “มาตรการตอบโต้อย่างเหมาะสม” ทางการทหาร เพื่อตอบโต้ต่อ “ท่าทีแข็งกร้าวของชาติตะวันตก” แม้ต่อมาในวันพฤหัสบดี ปธน.ปูตินจะมีท่าทีผ่อนปรนลง โดยชื่นชมสหรัฐฯ ว่ามีท่าทีเชิงบวกต่อข้อเสนอด้านความมั่นคงของรัสเซีย เขายังระบุด้วยว่า การเจรจาจะมีขึ้นในเดือนหน้า
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันอาทิตย์ นายดิมทรี เพสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซีย ระบุว่า ผู้นำรัสเซียอาจใช้มาตรการตอบโต้หากชาติตะวันตกไม่สามารถรับประกันทางความมั่นงคงแก่รัสเซียได้
นายเพสคอฟกล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ว่า การขยายฐานทัพของนาโต้ในยูเครนหรืออดีตประเทศในเครือสหภาพโซเวียตอื่นๆ เป็นประเด็น “ความเป็นความตาย” ของรัสเซีย เขาระบุด้วยว่า การทดสอบระดมยิงขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง “เซอร์คอน” ของรัสเซียเมื่อวันศุกร์ มีเพื่อเพิ่มน้ำหนักของข้อเรียกร้องทางความมั่นคงของรัสเซีย
โฆษกรัฐบาลรัสเซียยังระบุด้วยว่า รัสเซียจะไม่กำหนดเส้นตายสำหรับการเจรจา แต่การหารือที่อาจมีในเดือนหน้านี้อาจพอบอกได้ว่า สหรัฐฯ จะพร้อมรับเงื่อนไขของรัสเซีย หรือจะพยายามเลื่อนการเจรจาออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดหรือไม่ โดยรัสเซียไม่สามารถยอมรับกรณีอย่างหลังได้
อย่างไรก็ตาม คำกล่าวของนายเพสคอฟสวนทางกับท่าทีจาก ปธน. ปูตินเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่ระบุว่า เขาต้องการให้มีการทำตามข้อเรียกร้องด้านความมั่นคงจากรัสเซีย “โดยทันที”
แอนดรูว์ มาร์แชลล์ จากองค์กรวิจัยในสหรัฐฯ Atlantic Council ระบุว่า ผลลัพธ์จากความขัดแย้งครั้งนี้อาจส่งผลต่อเงื่อนไขทั้งหมดของความมั่นคงในยุโรปในยุคนี้ เช่นเดียวกับการตัดสินใจในช่วงสิ้นสุดสงครามเย็นเมื่อทศวรรษที่ 1990
เขายังระบุด้วยว่า ความขัดแย้งครั้งนี้อาจส่งผลต่อจุดยืนของสหรัฐฯ ต่อยุโรปและทั่วโลก โดยหากการเจรจาสำเร็จ จะเป็นการเน้นย้ำอำนาจความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร และจะเป็นต้นแบบของการเผชิญหน้ากับชาติอำนาจนิยม แต่หากการเจรจาไม่สำเร็จ ก็อาจเป็นการแสดงถึงจุดอ่อนของสหรัฐฯ และพันธมิตรข้ามมหาสมุทรแอตแลนติคระหว่างสหรัฐฯ และยุโรปที่อ่อนแอลง
นายดมิโทร คูเลบา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของยูเครน พยายามจัดการให้เจ้าหน้าที่ยูเครนเข้าร่วมการเจรจาความมั่นคงระหว่างสหรัฐฯ นาโต้ และรัสเซีย โดยเขาทวีตข้อความเมื่อวันศุกร์ว่า ยูเครนสนับสนุนการเจรจาตราบใดที่ประเด็นหลักคือการยุติความขัดแย้งทางการทหารระหว่างประเทศ และสงครามของรัสเซียต่อยูเครน
นายคูเลบายังระบุด้วยว่า การตัดสินใจต่อความมั่นคงของยูเครน จะทำได้ก็ต่อเมื่อยูเครนมีส่วนร่วมในการเจรจา และมีสหภาพยุโรปร่วมเจรจาในประเด็นความมั่นคงอื่นๆ ในยุโรป