หลังรัฐบาลสหรัฐฯของประธานาธิบดี โจ ไบเดนถูกวิจารณ์อย่างหนักว่ามาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียที่ประกาศใช้ไปในวันอังคารนั้นไม่รุนแรงพอ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไบเดน ได้แถลงยกระดับมาตราการลงโทษในวันพุธให้เด็ดขาดขึ้นในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่รัสเซียจะบุกเข้ายูเครน
มาตรการใหม่นั้นครอบคลุมถึงบริษัท นอร์ด สตรีม 2 เอจี (Nord Stream 2 AG) ที่สร้างท่อก๊าซธรรมชาติระหว่างรัสเซียและเยอรมนี โดยจะมีผลห้ามบริษัทใดๆทำธุรกิจร่วมกับ นอร์ด สตรีม 2 และผู้บริหารระดับสูงของรัสเซียอีกหลายคนด้วย มาตรการนี้เพิ่มเติมขึ้นมาจากเมื่อวันอังคารที่ประกาศลงโทษธนาคารสองแห่งของรัสเซีย มหาเศรษฐีรัสเซียกลุ่มหนึ่ง และการห้ามไม่ให้ชาวอเมริกันเข้าซื้อตลาดตราสารหนี้ของรัสเซีย
ประธานาธิบดีไบเดนกล่าวในพุธว่า “ขั้นตอนเหล่านี้เป็นอีกองค์ประกอบสำคัญในส่วนหนึ่งของมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจเพื่อตอบโต้การกระทำของรัสเซียในยูเครน และผมได้พูดให้ฟังอย่างชัดเจนแล้วว่า (สหรัฐฯ) จะไม่ลังเลที่ปรับระดับการลงโทษขึ้นอีก หากรัสเซียเลือกที่จะใช้ความรุนแรงต่อไป”
เหตุการณ์ข้างต้นเกิดขึ้นเพียงหนึ่งวันหลังจากนายกรัฐมนตรีของเยอรมนี โอลาฟ โชลซ์ประกาศระงับโครงการสร้างท่อก๊าซธรรมชาติ นอร์ด สตรีม 2 ซึ่งหมายความว่า การดำเนินการส่งก๊าซจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้นั่นเอง
โฆษกทำเนียบขาว เจน ซากี กล่าวในวันพุธด้วยว่า มาตรการลงโทษที่สหรัฐฯและพันธมิตรใช้จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของรัสเซียสูงขึ้น จนทำให้นักลงทุนเลือกเทขายทรัพย์สินในรัสเซียและจำทำให้สกุลเงินรูเบิ้ลของรัสเซียอ่อนค่าลง ทุกสิ่งล้วนจะสร้างความเสียหายที่รุนแรงให้แก่เศรษฐกิจรัสเซียทั้งสิ้น
ทางด้าน โรเบริต์ เมนเนเดส จากพรรคเดโมแครตที่นั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของวุฒิสภาอเมริกัน กล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์ CNN ว่า สหรัฐฯควรใช้มาตรการลงโทษรัสเซียที่หนักที่สุดในขณะนี้เลย และตั้งคำถามว่าเมื่อไหร่สหรัฐฯ จะแสดงให้ผู้นำรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน เห็นถึงผลกระทบอันเลวร้ายจากการกระทำของเขาสักที
ส่วนสมาชิกวุฒิสภา มาร์ช่า แบล็คเบริน์ จากพรรครีพับลิกัน ตำหนิผู้นำสหรัฐฯ โจ ไบเดนผ่านคำแถลงการณ์ว่า ไบเดนเลือกที่จะไม่ใช้มาตรการที่เด็ดขาด และความอ่อนแอของเขาทำให้รัสเซียฮึกเหิมขึ้นมา
แต่ก็ใช่ว่าทุกคนมีความคิดเห็นเช่นนั้น เพราะ ซูด้า เดวิด-วิลป์ แห่ง German Marshall Fund บอกวีโอเอว่า สิ่งสำคัญคือการที่ชาติตะวันตกไม่งัดมาตรการทั้งหมดออกมาใช้ทีเดียว เพราะควรมีกลยุทธ์ที่สร้างความแปลกใจไว้ด้วยบ้าง เนื่องจากความขัดแย้งในยูเครนน่าจะเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานาน
อแมนด้า พอลล์ นักวิเคราะห์แห่ง European Policy Center อธิบายผ่านสำนักข่าวเอพีว่า รัสเซียใช้เวลา 8 ปีที่ผ่านมาเตรียมตัวให้สามารถเผชิญช่วงเวลาแบบนี้ไว้แล้ว โดยรัฐบาลเครมลินค่อยๆ ลดการพึ่งพาเม็ดเงินและการลงทุนจากชาติตะวันตก และสะสมคลังทรัพย์สินที่มีทั้งทองคำและเงินสดหลายสกุลรวมกว่า 6 แสนล้านดอลลาร์ ดังนั้น ชาติตะวันตกจะต้องมุ่งมั่นที่จะลงโทษรัสเซียต่อไปเรื่อยๆ แม้บทลงโทษจะหมายความว่าชาติตะวันตกต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบากด้วยก็ตาม
อย่างไรก็ตาม แดเนียล อัน นักวิเคราะห์แห่ง Wilson Center ในกรุงวอชิงตันและอดีตหัวหน้านักเศรษฐกิจแห่งกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯได้อธิบายว่ามาตรการลงโทษที่เริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ หรือแบบที่หนักไปเลยไม่ได้มีผลกระทบที่แตกต่างกันมากเหมือนที่หลายๆคนคิด
เขาชี้ว่า “ตราบใดที่ยังมีความไม่แน่นนอนอยู่ หรือมีการคาดการณ์จากตลาดว่าจะมีมาตราการลงโทษทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต สิ่งเหล่านี้จะสร้างความระส่ำระสายต่อภาวะเศรษฐกิจและธุรกรรมการเงิน ดังนั้น ความเสี่ยงหรือความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากมาตรการข้างต้นจะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของภาคธุรกิจเอกชน และส่ิงนั้นเองคือผลกระทบที่แท้จริงของมาตรการลงโทษ”
โนรา มิลเลอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์แห่งสถาบัน Körber ในกรุงเบอร์ลิน กล่าวเสริมว่า “ยิ่งใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อรัฐบาลรัสเซียมากเท่าไหร่ ความเจ็บปวดก็จะเกิดทั้งต่อประเทศที่ถูกลงโทษและประเทศที่ประกาศใช้มาตรการลงโทษ นั่นคือตรรกะการใช้มาตรการประเภทนี้ และเมื่อเราพูดถึงการลงโทษตลาดน้ำมันของรัสเซีย มันก็แน่ชัดอยู่ว่าสมาชิกของสหภาพยุโรปจะต้องรับผลกระทบอย่างหนัก”
ดาลีป ซิงห์ รองหัวหน้าที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯกล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์ CNN ว่ามาตรการลงโทษที่เพิ่งประกาศใช้ไปเป็นเพียงแค่ชุดแรกเท่านั้น และในอนาคตจะการใช้บทลงโทษจะทวีรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เขาย้ำว่าเป้าหมายที่แท้จริงไม่ใช่การระดมใช้มาตรการลงโทษทั้งหมด แต่คือการปราบปรามไม่ให้เกิดการรุกเข้ายูเครนขยายวงกว้าง สหรัฐฯ ต้องการป้องกันไม่ให้ประชากรได้รับความลำบากหรือเสียชีวิต และไม่ต้องการให้ ยูเครนมีรัฐบาลหุ่นถูกเชิดโดยกรุงมอสโก
ทางด้านพันธมิตรอื่นๆ รวมทั้ง สหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร นั้นได้ใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียเช่นกัน โดยประชาชนในสหราชอาณาจักรได้เรียกร้องให้รัฐบาลของตนลงโทษผู้มีอำนาจทางธุรกิจใหญ่ๆของรัสเซีย (oligarchs) ด้วยการแช่แข็งอสังหาริมทรัพย์ในกรุงลอนดอนของบุคคลเหล่านี้