ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิจัยศึกษา "มูลเเรด" เพื่อการอนุรักษ์พันธุ์แรด


ทีมนักวิจัยกำลังพยายามค้นหาเหตุผลที่ทำให้จำนวนประชากรของสัตว์ป่าบางชนิดในแอฟริกาไม่เพิ่มขึ้นอย่างที่ควร ซึ่งรวมถึงม้าลายพันธุ์เกรวี และม้าลายพันธุ์ภูเขาเคป แต่งานวิจัยนี้เน้นไปที่ "แรดดำ" ที่กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เป็นหลัก

ซู วอร์คเกอร์ (Sue Walker) หัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ประยุกต์ที่สวนสัตว์เชสเตอร์ ในอังกฤษ กล่าวว่า ทางสวนสัตว์ได้ร่วมมือกับทีมนักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ พัฒนาชุดอุปกรณ์ที่ช่วยสร้างความเข้าใจว่าทำไมแรดดำจึงไม่ค่อยมีลูก และหากสามารถเข้าใจเรื่องนี้ได้ ก็จะช่วยนำไปสู่การหาทางเพิ่มการขยายพันธุ์ของแรดดำ

ที่ห้องทดลองของสวนสัตว์เชสเตอร์ ทีมนักวิจัยกำลังศึกษาข้อมูลทางชีววิทยาต่างๆ ของสัตว์ด้วยการวิเคราะห์ตัวอย่างมูลสัตว์

เดนีเอล จิลรอย (Danielle Gilroy) นักวิจัยที่สวนสัตว์ กล่าวว่า ทีมงานกำลังพยายามวิธีศึกษาข้อมูลบ่งชี้ทางชีววิทยาที่พบในมูลของสัตว์ ที่จะบอกได้ว่าสัตว์มีความเครียดอย่างไรบ้าง อยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมแบบใด สุขภาพของสัตว์แต่ละตัว และดูว่ากำลังขยายพันธุ์หรือไม่

เป้าหมายของโครงการวิจัยมูลค่า 1 ล้าน 5 แสนดอลล่าร์นี้ คือการพัฒนายุทธวิธีในการส่งเสริมการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติของสัตว์

ซูแซนน์ ชอล์ท (Susanne Shultz) ศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ กล่าวว่าทีมงานได้เก็บตัวอย่างมูลของสัตว์ป่าในธรรมชาติจำนวนมาก ซึ่งจะให้ข้อมูลมากมายแก่ทีมงานเกี่ยวกับโรคต่างๆ ในสัตว์ป่า อาหารที่สัตว์กิน การขยายพันธุ์ ตลอดจนระดับความเครียดของสัตว์ การวิจัยมุ่งศึกษาให้ได้ข้อมูลโดยรวมทั้งหมดเกี่ยวกับสัตว์ป่าจากมูลของมัน

ทีมนักวิจัยหวังว่าจะสามารถนำความรู้ที่ได้เรียนรู้ไปใช้กับสัตว์ป่า โดยเฉพาะการส่งเสริมอัตราการเกิดเพื่อเพิ่มจำนวนประชากรสัตว์ป่าที่กำลังถูกคุกคามจากการล่าที่เพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาในชาติแอฟริกาต่างๆ ทางใต้ของทะเลทรายซาฮาร่า

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)

XS
SM
MD
LG