รายงานที่เผยแพร่เมื่อต้นเดือนมิถุนายนชี้ว่าความเกลียดชังและแนวคิดสุดโต่งในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2023 ที่ผ่านมา โดยมีกลุ่มคนผิวขาวแนวคิดชาตินิยม (white nationalists) และกลุ่มต่อต้านผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ พยายามเข้าบ่อนทำลายประชาธิปไตยที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในสังคมอเมริกัน
ชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของกลุ่มผู้มีแนวคิดความเกลียดชังและแนวคิดสุดโต่งในสหรัฐฯ เมื่อปี 2023 อ้างอิงจากรายงานของ Southern Poverty Law Center ที่เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
นักวิจัยมองว่า วาทกรรมเกลียดชังและทฤษฎีสมคบคิดที่ต่อต้านรัฐบาล ยังส่งผลกระทบเชิงลบต่อผู้อพยพ คนผิวสี และชุมชนคนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ด้วย
อาร์.จี.เครเวนส์ นักวิจัยอาวุโสแห่ง Southern Poverty Law Center กล่าวกับวีโอเอผ่านสไกป์ว่า “กลุ่มแนวคิดสุดโต่ง ผู้ที่ต่อต้านความเป็นประชาธิปไตยที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ใช้เวลาปีที่แล้วในการสร้างความชอบธรรมให้กับการบุกอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ วาดภาพให้ความเกลียดชังเป็นสิ่งที่มีคุณธรรม และเปลี่ยนแปลงทฤษฎีสมคบคิดให้กลายเป็นแนวคิดกระแสหลัก และพวกเขาอยู่ระหว่างการเตรียมการ ที่บอกได้ว่า ไปสู่การเลือกตั้งที่มีความสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของเรา”
เมื่อปีที่แล้ว พบว่ามีกลุ่มต่อต้านรัฐบาล 835 กลุ่ม เพิ่มขึ้นจาก 702 กลุ่มในปีก่อนหน้า และในรายงานยังพบว่า ตัวเลขของกลุ่มที่มีแนวคิดเกลียดชังในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 595 กลุ่มเมื่อปีที่แล้ว เพิ่มจาก 523 กลุ่มในปีก่อนหน้า
เครเวนส์ มองว่ากลุ่มเหล่านี้กำลังเคลื่อนไหวเข้ามายังแวดวงการเมืองด้วยเป้าหมายอันจำเพาะเจาะจง “คือการจำกัดแนวคิดพหุนิยมทางการเมือง จำกัดการมีส่วนร่วมทางการเมือง และจำกัดความเป็นประชาธิปไตย”
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ แสดงตนว่าเป็นทางเลือกเดียวในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายนนี้ที่จะหยุดยั้งวาทกรรมเกลียดชังที่เพิ่มขึ้นในประเทศ
ปธน.ไบเดน กล่าวว่า “ผมจะไม่ปล่อยให้โดนัลด์ ทรัมป์ เปลี่ยนอเมริกาให้กลายเป็นสถานที่ที่ไม่สามารถเชื่อในความซื่อสัตย์ ความมีเกียรติ และการปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเคารพ และให้ผมตายเสียดีกว่าหากปล่อยให้โดนัลด์ ทรัมป์ เปลี่ยนอเมริกาให้กลายเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความขุ่นเคือง ความเคียดแค้น และความเกลียดชัง”
ด้านอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้จุดประเด็นขัดแย้งเมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งผู้นำ ในการปะทะระหว่างผู้สนับสนุนและต่อต้านการเดินขบวนของกลุ่มคนผิวขาวแนวคิดชาตินิยม ที่ชาร์ล็อตส์วิลล์ รัฐเวอร์จิเนีย เมื่อปี 2017 โดยกล่าวหาทั้งสองฝ่ายว่าเป็นผู้จุดชนวนความขัดแย้งรุนแรง
ในช่วงการประท้วงดังกล่าว กลุ่มคนผิวขาวแนวคิดชาตินิยมขับรถพุ่งเข้าไปในหมู่ผู้ประท้วงต่อต้าน คร่าชีวิตสตรี 1 คน และมีผู้บาดเจ็บอีก 30 คน
ในตอนนั้น ทรัมป์ กล่าวถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้น และเรียกว่า “การแสดงความเกลียดชัง ความคลั่งไคล้ และความรุนแรงอย่างร้ายแรงต่อหลายฝ่าย”
ขณะที่ทรัมป์ ให้การสนับสนุนกลุ่มที่เป็นแกนนำในการต่อต้านหลักสูตรในสถานศึกษาที่เกี่ยวกับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มชาติพันธุ์ และเรื่องราวเกี่ยวกับเชื้อชาติ อย่างเช่น Moms for Liberty ซึ่งทาง Southern Poverty Law Center ระบุให้กลุ่มดังกล่าวเป็น “กลุ่มแนวคิดสุดโต่งที่ต่อต้านรัฐบาล” ที่คัดค้านการศึกษาที่เด็กนักเรียนทุกกลุ่มมีโอกาสเท่าเทียมกัน
โดยทรัมป์ กล่าวว่า "กลุ่มหัวรุนแรงซ้ายจัดถึงขั้นใส่ร้าย Moms for Liberty ว่าเป็นกลุ่มแนวคิดเกลียดชัง คุณนั่นแหละคือพวกสร้างความเกลียดชัง! คุณนึกภาพออกไหมว่า กลุ่ม Moms for Liberty เป็นกลุ่มแนวคิดเกลียดชัง?”
ขณะที่ทางกลุ่ม Moms for Liberty ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์กับวีโอเอเมื่อติดต่อขอความเห็นและการสัมภาษณ์ไปในช่วงเวลาที่รายงานข่าวนี้
นักวิเคราะห์มองว่า ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีต้องมีความระมัดระวังเกี่ยวกับวาทกรรมที่จะนำไปสู่ความรุนแรง ก่อนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้
เทียล รอธไชลด์ อาจารย์ด้านสังคมวิทยาจาก Roger Williams University ให้ทัศนะกับวีโอเอผ่านสไกป์ว่า “สำหรับไบเดนคือเดินหน้าพูดถึงสันติภาพ และความสำคัญของการเลือกตั้งโดยทั่วไป แต่สำหรับอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ เขาตกอยู่ในจุดที่ท้าทาย เพราะเขาได้แรงสนับสนุนมากกว่าเมื่อใช้คำพูดแบบสุดโต่ง แต่ผลที่ออกมาก็คือ เขาได้ดึงประชากรชายขอบเข้ามาลงคะแนนด้วย”
รอธไชลด์ แนะว่า ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งควรจะระมัดระวังเรื่องทฤษฎีสมคบคิดในสื่อกระแสหลักและสื่อสังคมออนไลน์ ที่อาจจุดชนวนความเกลียดชังและความขัดแย้งขึ้นได้
- ที่มา: วีโอเอ
กระดานความเห็น