ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ปูตินเมินตะวันตก-ยืนยันจะเดินหน้าโจมตียูเครนต่อไป


Ukranian service members prerpare to lauch rockets in the Bakhmut region
Ukranian service members prerpare to lauch rockets in the Bakhmut region

ทำเนียบเครมลินย้ำ ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี คือผู้เดียวที่จะยุติความขัดแย้งทางทหารในยูเครนได้ ขณะที่ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ประกาศกร้าวที่จะเดินหน้าทำสงครามต่อไปโดยไม่สนใจเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากชาติตะวันตก ตามรายงานของเอพี

ดมิทรี เพสคอฟ โฆษกเครมลินกล่าวในวันพฤหัสบดีว่า “(ประธานาธิบดียูเครน โวโลดิเมียร์) เซเลนสกี รู้ดีว่า เรื่องนี้จะจบลงได้เมื่อใด อาจเป็นพรุ่งนี้ก็ได้ ถ้าเขาปรารถนาเช่นนั้น”

ทั้งนี้ เครมลินยืนยันมาตลอดว่า ยูเครนต้องยอมรับเงื่อนไขที่รัฐบาลมอสโกนำเสนอเพื่อให้สงครามที่ดำเนินเข้าสู่เดือนที่ 10 แล้วนี้สิ้นสุดลง ซึ่งก็คือ กรุงเคียฟต้องยอมรับว่า แคว้นไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียที่ถูกผนวกเข้ากับรัสซีย ซึ่งทั่วโลกมองว่า เป็นกระบวนการไม่ถูกกฎหมายเมื่อปี ค.ศ. 2014 รวมทั้งยอมรับว่า มอสโกได้ยึดครองพื้นที่อาณาเขตอื่น ๆ ของยูเครนเป็นของตนแล้วด้วย

ปธน.เซเลนสกีและเจ้าหน้าที่รัฐบาลยูเครนอื่น ๆ ปฏิเสธเงื่อนไขที่ว่านี้ทันที พร้อมโต้ว่า สงครามนี้จะยุติลงได้เมื่ออาณาเขตทั้งหมดที่รัสเซียยึดครองไปกลับคืนมาเป็นของยูเครน หรือเมื่อกองทัพรัสเซียถอนทัพออกไปจากผืนดินของยูเครนแล้ว

และในระหว่างร่วมประชุมทางโทรศัพท์กับผู้สื่อข่าว เพสคอฟ กล่าวว่า มอสโกไม่ได้ต้องการจะยึดดินแดนอื่น ๆ เพิ่มจากยูเครน แต่เพียงพยายามเข้าควบคุมพื้นที่ที่กองทัพเพิ่งถอยล่าออกมาทั้งหมดซึ่งรัฐบาลเพิ่งประกาศผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียเมื่อไม่นานมานี้

เพสคอฟ ระบุว่า “มีอาณาเขตในหลายแคว้นของสหพันธรัฐรัสเซียที่ถูกครอบครองอยู่และต้องได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระ”

ในวันพฤหัสบดีเช่นกัน ปธน.ปูตินยืนยันที่จะเดินหน้าบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้สำหรับยูเครน ไม่ว่าชาติตะวันตกจะมีปฏิกิริยาอย่างไรก็ตาม โดยกล่าวว่า “เพียงแค่เราขยับตัวก็มีเสียงนกเสียงกา เสียงจ้อกแจ้ก เสียงโวยวายดังขึ้นมามากมายจากทั่วทั้งจักรวาล” และว่า “นั่นจะไม่ขัดขวางเราไม่ให้บรรลุภารกิจการต่อสู้เลย”

นอกจากนั้น ปธน.ปูติน ยังยืนยันว่า การที่กองทัพรัสเซียโจมตีโครงสร้างพื้นฐานหลัก ๆ ซึ่งรวมถึงแหล่งพลังงานของยูเครน เป็นการตอบโต้ที่ถูกทำนองคลองธรรมต่อเหตุระเบิดสะพานไครเมียเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม

ขณะเดียวกัน ชาติตะวันตกออกมาแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการที่ผู้นำรัสเซียหยิบยกเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมาพูด ในระหว่างประชุมสภาสิทธิมนุษยชนของทำเนียบเครมลินที่ยืนยันว่า สงครามในยูเครนจะยืดเยื้อต่อไปอีกนาน แต่จะยังไม่มีการระดมพลเพิ่มเติมในเร็ว ๆ นี้

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ปธน.ปูติน กล่าวต่อที่ประชุมสภาสิทธิมนุษยชนซึ่งมีสมาชิกเป็นผู้สื่อข่าว นักเคลื่อนไหว และบุคคลสาธารณะที่จงรักภักดีต่อรัฐบาล ว่า ในเวลานี้ ความเสี่ยงของสงครามยูเครนกำลังเพิ่มขึ้น แต่รัสเซียจะไม่ทำการขู่โดยไม่ไตร่ตรองว่า จะมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ และระบุว่า “เราไม่ได้เสียสติ เราตระหนักรู้ดีว่าอาวุธนิวเคลียร์คืออะไร” และว่า “เรามีเครื่องมือที่มีความล้ำหน้าและทันสมัยกว่าประเทศที่ครอบครองนิวเคลียร์ประเทศอื่น ๆ ... แต่เราคงไม่เที่ยววิ่งวุ่นไปทั่วโลกและกวัดแกว่งอาวุธดังกล่าวเหมือนกับว่าเป็นมีดโกนเล่มหนึ่ง”

ในประเด็นนี้ เน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า “การที่จะมีผู้ใดหยิบยกเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมาพูดพล่อย ๆ นั้นเป็นการไร้ความรับผิดชอบสิ้นดี”

ไพรซ์ ยังกล่าวด้วยว่า “เราคิดว่า วาทะใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงแสนยานุภาพด้านนิวเคลียร์ หรือการยกระดับคำขู่การใช้อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี เป็นเรื่องไร้ความรับผิดชอบ” และว่า “นี่เป็นเรื่องอันตราย และขัดแย้งกับจิตวิญญาณของคำแถลงที่เป็นหัวใจของสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์นับตั้งแต่ครั้งสงครามเย็นเป็นต้นมา”

นายกรัฐมนตรีเยอรมนี โอลาฟ โชลซ์ ระบุในบทสัมภาษณ์กับสื่อฟุงเก (Funke) ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวันพฤหัสบดีว่า แรงกดดันจากนานาชาติต่อรัสเซียได้ช่วยลดทอนความเสี่ยงของการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในยูเครนไปบางแล้ว

นายกฯ โชลซ์ กล่าวว่า “สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปในเวลานี้ คือ รัสเซียหยุดการขู่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ ตามที่ประชาคมโลกได้ขีดเส้นสีแดงไม่ให้ข้าม”

และเมื่อถูกถามว่า ภัยคุกคามจากการยกระดับความขัดแย้งขึ้นมาเป็นสงครามนิวเคลียร์ได้จางหายไปหรือยัง นายกฯ เยอรมนีตอบว่า “สำหรับตอนนี้ เราต้องหยุดยั้งเรื่องนี้ให้ได้”

  • ที่มา: เอพีและวีโอเอ
XS
SM
MD
LG