สหภาพยุโรปประกาศใช้มาตรการห้ามการขนส่งน้ำมันดิบจากรัสเซียทางทะเลซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันจันทร์ พ่วงมาตรการจำกัดเพดานราคาน้ำมันดิบรัสเซียซึ่งได้รับความเห็นชอบจากประเทศสมาชิกกลุ่ม G-7 และออสเตรเลียเมื่อเร็ว ๆ นี้
นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่า การห้ามขนส่งน้ำมันดิบรัสเซียทางทะเลครั้งนี้ถือเป็นมาตรการสำคัญที่สุดที่สหภาพยุโรปนำมาใช้เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย โดยมีเป้าหมายเพื่อตัดรายได้ด้านพลังงานที่เชื่อว่า รัสเซียนำไปใช้ในการทำสงครามในยูเครน
เออร์ชูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประกาศมาตรการนี้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมในช่วงที่อากาศยังอบอุ่น ทำให้ดูเหมือนผลกระทบจากการขาดแคลนพลังงานในยุโรปอาจไม่รุนแรงนัก แต่ขณะนี้ย่างเข้าฤดูหนาวแล้ว รัฐบาลในยุโรปต่างกังวลว่า การห้ามนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียอาจส่งผลรุนแรงกว่า ในขณะที่ รัสเซียก็ตัดการส่งออกก๊าซธรรมชาติไปยังยุโรปด้วยเช่นกัน
เธียร์รี บรอส ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานแห่ง Sciences Po University ในกรุงปารีส สรุปสถานการณ์ที่ยุโรปกำลังเผชิญว่า "เราจำเป็นต้องคิดถึงวิธีที่สามารถสร้างความเจ็บปวดให้รัสเซีย แต่ก็ต้องทำให้เราเจ็บปวดน้อยกว่าด้วย"
ก่อนหน้านี้ อียูได้ใช้มาตรการห้ามนำเข้าถ่านหินจากรัสเซียมาแล้ว รวมกับมาตรการใหม่คือ การห้ามนำเข้าน้ำมันดิบและกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียในตลาดโลกไว้ไม่เกิน 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
อย่างไรก็ตาม เธียร์รี บรอส ยังไม่แน่ใจว่าวิธีนี้จะได้ผล เนื่องจากน้ำมันและถ่านหินนั้นต่างเป็นสินค้าทดแทนได้ รัสเซียสามารถเปลี่ยนการส่งออกพลังงานเหล่านี้ไปยังเอเชีย รวมทั้งลดราคาให้กับอินเดียและจีน ดังนั้น มาตรการคว่ำบาตรอาจส่งผลเสียรุนแรงกว่าต่อยุโรปเอง
ในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า อียูจะเริ่มใช้มาตรการห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์จากโรงกลั่นของรัสเซีย ซึ่งรวมถึงน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะและเครื่องบิน โดยเชื่อว่าจะมีประสิทธิผลยิ่งกว่าการคว่ำบาตรน้ำมันดิบ
ถึงกระนั้น บรอส ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานแห่ง Sciences Po University ชี้ว่า ยานพาหนะในยุโรปยังต้องพึ่งพาน้ำมันจากรัสเซียอยู่มาก และพลังงานทางเลือกอื่นก็ยังไม่สามารถทดแทนได้ และเขายังไม่เห็นด้วยกับการใช้กลไกแทรกแซงตลาดพลังงานซึ่งสร้างความเสี่ยงให้กับตลาดเสรี
ทั้งนี้ ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากรัสเซียไปยังยุโรปลดลงอย่างมากในปีนี้ แต่กรุงมอสโกยังคงมีรายได้โดยรวมจากการส่งออกน้ำมันมากกว่าปีที่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นเพราะราคาน้ำมันดิบโลกที่เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่เกิดสงครามในยูเครน
- ที่มา: วีโอเอ