ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน เปิดเผยในวันพฤหัสบดีว่า กรุงมอสโกจะหันไปเร่งส่งเสริมการส่งออกพลังงานให้แก่ประเทศในซีกโลกตะวันออกมากขึ้น ขณะที่ ยุโรปพยายามลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียอยู่ ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
ปัจจุบัน รัสเซียเป็นผู้จัดส่งก๊าซธรรมชาติสัดส่วนราว 40% จากปริมาณรวมที่ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ใช้อยู่ ขณะที่ มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่นำโดยชาติตะวันตกเพื่อต่อต้านการที่รัฐบาลเครมลินส่งกองทัพรุกรานยูเครน ทำให้กระบวนการส่งออกพลังงานของรัสเซียมีความยุ่งยากขึ้นมาก โดยเฉพาะในด้านการชำระเงินและโลจิสติกส์
และขณะที่ อียูเดินหน้าหารือการดำเนินมาตรการลงโทษใหม่ๆ ต่ออุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซของรัสเซีย พร้อมๆ กับการหันไปหาแหล่งพลังงานอื่นมาทดแทน เครมลิน เลือกที่จะเร่งส่งเสริมความสัมพันธ์กับจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้บริโภคพลังงานอันดับต้นๆ ของโลก รวมทั้งประเทศอื่นๆ ในเอเชียแทน
ปธน.ปูติน ระบุระหว่างร่วมประชุมรัฐบาลที่มีการถ่ายทอดผ่านทางโทรทัศน์ว่า “พวกที่เรียกตัวเองว่า เป็นหุ้นส่วน ซึ่งมาจากประเทศที่ไม่เป็นมิตร(กับรัสเซีย) ยอมรับกันแล้วว่า ตนจะไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้หากปราศจากทรัพยากรพลังงานจากรัสเซีย ซึ่งรวมถึง ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น” และว่า “ในเวลานี้ ยุโรปไม่มีตัวเลือกดีๆ ที่จะมาแทน(ก๊าซจากรัสเซีย)ได้เลย”
ผู้นำเครมลินยังกล่าวด้วยว่า การที่ยุโรปออกมาพูดถึงแผนการยุติการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียนั้น เป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาพลังงานพุ่งและเกิดความไม่มีเสถียรภาพในตลาดพลังงาน พร้อมประกาศว่า รัสเซียซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันสัดส่วน 1 ใน 10 ที่ผลิตได้ทั่วโลก และก๊าซธรรมชาติสัดส่วน 1 ใน 5 ของโลก จะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ เพื่อยกระดับการผลิตพลังงานให้กับตลาดในเอเชีย
ทั้งนี้ ปธน.รัสเซียได้สั่งให้รัฐบาลเตรียมนำเสนอรายละเอียดแผนงานใหม่สำหรับโครงการดังกล่าวภายในวันที่ 1 มิถุนายนนี้
- ที่มา: รอยเตอร์