คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่าระดับมลพิษในอากาศในเมืองที่คุณอาศัยอยู่มีความรุนแรงเเค่ไหน คำตอบของข้อข้องใจนี้อาจจะไม่ได้มาจากเจ้าหน้าที่รัฐของประเทศนั้นเสมอไป เพราะตามเมืองต่างๆ ทั่วโลก รัฐบาลของประเทศเหล่านั้นบางแห่งไม่มีระบบตรวจสอบระบบอากาศให้กับประชาชน
สหรัฐฯจึงเริ่มโครงการที่จะติดตั้งเครื่องวัดมลพิษทางอากาศที่สถานทูตของตนตามประเทศต่างๆ และเผยแพร่ข้อมูลต่อประชาชนทั่วไป เริ่มต้นที่อินเดีย เวียดนาม และมองโกเลีย
แน่นอนว่า การตัดสินใจทำเช่นนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนทางการทูต เพราะประเทศเจ้าบ้านอาจเห็นว่าอเมริกาเข้าไปก้าวก่ายกิจการในประเทศ
อย่างที่เห็นได้ชัด จากที่เมื่อหลายปีก่อนที่สถานทูตสหรัฐที่กรุงปักกิ่ง เปิดเผยสภาพมลพิษทางอากาศที่น่ากังวลในนครหลวงของจีน ซึ่งข้อมูลชี้ว่าอากาศที่กรุงปักกิ่งไม่ปลอดภัยต่อการหายใจ ครั้งนั้นเจ้าหน้าที่จีนโกรธเกรี้ยวอย่างมาก
ฝ่ายกรุงวอชิงตันนั้นทราบดีว่าเป็นเรื่องน่าลำบากใจ แต่เน้นว่าข้อมูลเรื่องอากาศมีความสำคัญต่อประชาชนผู้อยู้อาศัยในเมืองต่างๆ
ดังนั้น รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ John Kerry จึงสะท้อนถึงความไม่ง่ายในโครงการลักษณะนี้้ ในสัปดาห์นี้ที่กรุงวอชิงตัน ขณะที่ร่วมการเปิดตัวโครงการวัดคุณภาพอากาศตามสถานทูตสหรัฐในประเทศต่างๆ
รัฐมนตรี John Kerry บอกอีกด้วยว่า ในที่สุดแล้ว กรณีของประเทศจีนทำให้เกิดแรงกระตุ้น เรื่องการให้ข้อมูลสภาพมลพิษทางอากาศต่อสาธารณะชน และสามารถเป็นแรงกระตุ้นให้มีการแก้ไขจากกรุงปักกิ่ง
เขาบอกว่า เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อ เฉียง ประกาศสงครามกับมลภาวะ และนายกเทศมนตรีกรุงปักกิ่งเรียกปัญหาสิงแวดล้อมที่นั้นว่าเป็นสถานการณ์ที่เป็นอันตรายต่อชีวิตประชาชน
นอกจากนั้นเมื่อปีที่แล้วสภาประชาชนแห่งชาติของจีนปรับกฎหมายการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้ทันสมัยขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี
หัวหน้าหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของอเมริกา Gina McCarthy กล่าวว่าอเมริกาเองก็มีปัญหามลพิษทางอากาศในหลายเมือง และยังคงต้องปรับปรุงด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมต่อไป เธอบอกว่าสหรัฐยินดีที่จะแบ่งปันข้อมูลด้านการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศให้กับเมื่องต่างๆ ทั่วโลก
ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกชี้ว่า มลพิษทางอากาศนอกอาคารบ้านเรือน เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของคน 3.7 ล้านคนทั่วโลกเมื่อ 3 ปีก่อน
Gina McCarthy กล่าวที่งานเปิดโครงการตรวจสภาพอากาศที่สถานทูตอเมริกันประจำประเทศต่างๆว่า เป็นเรื่องสำคัญที่ประชาชนในเมืองใหญ่ๆ ต้องการได้ข้อมูลเรื่องมลพิษทางอากาศ เพราะเรื่องนี้มีผลต่อสุขภาพ และอากาศเสียทำให้ผู้ที่เป็นโรคร้ายแรงเช่นโรคหัวใจ มีความเสี่ยงด้านสุขภาพมากขึ้น
ด้านนักวิชาการสิ่งแวดล้อมเช่น อาจารย์ Joshua Apte จากมหาวิทยาลัยเท็กซัสที่เมืองออสติน กล่าวว่ารัฐบาลของหลายประเทศทั่วโลกให้ข้อมูลอย่างจำกัดเรื่องมลภาวะทางอากาศต่อประชาชน
เขาบอกว่า ในอินเดียมีเครื่องตรวจอากาศ 30 ตัวเท่านั้นที่เชื่อมกับระบบอินเตอร์เน็ท เทียบกับจีนซึ่งติดตั้งไปแล้วถึง 2,000 เครื่อง ทั้งๆ ที่ทั้งสองประเทศมีประชากรใกล้เคียงกันและมีปัญหาสิ่งแวดล้อมที่คล้ายคลึงกันด้วย
รายงานโดย Steve Baragona /เรียบเรียงโดยรัตพล อ่อนสนิท
ท่านสามารถฟังรายละเอียดของข่าวชิ้นนี้จากคลิปรายการข่าวสดสายตรงจากวีโอเอ