บริษัททำโพลล์ Gallup สำรวจความคิดเห็นชาวอเมริกันช่วงวันที่ 1 ถึง 23 กรกฎาคม และพบว่ามีเพียงร้อยละ 13 ที่ระบุว่าพอใจกับสถานการณ์ในประเทศ
ระดับดังกล่าวลดลงจากร้อยละ 20 เมื่อต้นเดือนมิถุนายน และร้อยละ 45 ในเดือนกุมภาพันธ์ นอกจากนี้ยังต่ำสุดในรอบเกือบ 9 ปีอีกด้วย
ในการทำสำรวจครั้งนี้ที่เปิดเผยผลโพลล์ในที่ 4 สิงหาคม Gallup สอบถามชาวอเมริกันที่อายุ 15 ปีขึ้นไป ถึงความพอใจต่อสถานการณ์ของประเทศ
ช่วงเวลาทำโพลล์เกิดขึ้น ท่ามกลางการระบาดที่รุนแรงขึ้นของโคโรนาไวรัส นอกจากนี้เศรษฐกิจอเมริกันก็เผชิญกับความความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่เหตุการณ์ Great Depression ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่1930
ในสัปดาห์นี้ เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวและตัวแทนสมาชิกรัฐสภาสังกัดพรรคเดโมแครตเข้าร่วมการประชุม และพยายามหาข้อสรุปเกี่ยวกับแผนช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ รอบใหม่ ต่อผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หลังมาตรการต่างๆ ในรอบแรกหมดอายุลงไปเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ขณะที่ประชาชนหลายล้านคนยังอยู่ในภาวะว่างงานอยู่
การเดินหน้าถกประเด็นความช่วยเหลือระหว่างสองฝ่ายนี้ดำเนินมาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว หลัง แนนซี่ เพโลซี่ ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ชัค ชูเมอร์ ผู้นำเดโมแครตในวุฒิสภา สตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และมาร์ค เมโดวส์ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ประจำทำเนียบขาวร่วมเจรจาหาข้อสรุปของข้อเสนอจากทั้งสองฝ่ายที่ต่างกันมากเมื่อวันเสาร์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
Gallup ยังได้กล่าวถึงเหตุการณ์ทางสังคมด้วย กล่าวคือ ประชาชนรับรู้ถึงบรรยากาศ จากการเคลื่อนไหวทั่วประเทศเพื่อต่อต้านการเหยียดสีผิวและการใช้ความรุนแรงของตำรวจ ภายหลังการเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ ชาวแอฟริกันอเมริกัน ที่รัฐมินิโซต้า ขณะถูกตำรวจผิวขาวจับกุมตัว
ในครั้งนั้น ประชากรอเมริกันเพียงร้อยละ 7 พอใจกับสถานการณ์ในประเทศทั้งนี้ระดับความพอใจที่ร้อยละ 13 เมื่อเดือนที่เเล้ว สูงกว่าจุดต่ำสุด ที่ Gallup เคยทำสำรวจ เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2008 ในครั้งที่เศรษฐกิจอเมริกันเผชิญวิกฤตการเงินครั้งใหญ่
ในการทำสำรวจของ Gallup เรื่องพอใจต่อสถานการณ์ในประเทศของคนอเมริกัน เหตุการณ์ที่เคยกระทบกับบรรยากาศของประเทศ อย่างรุนเเรง เช่นเดียวกับมรสุมหลายด้านในปัจจุบัน มีตัวอย่างที่เปรียบเทียบได้ เช่น เศรษฐกิจถดถอยเมื่อ 12 ปีก่อน วิกฤตพลังงานในปลายคริสต์ทศวรรษที่ 70 และ ที่เมื่อ 9 ปีก่อน สหรัฐฯ ถูกลดความน่าเชื่อถือทางการเงินโดย Standard & Poor’s เนื่องจากภาวะหนี้ในประเทศ
ครั้งล่าสุดที่ระดับความพอใจในสถานการณ์ของประเทศตกตำ่กว่าระดับปัจจุบันคือ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2011 ในครั้งนั้นตัวเลขอยู่ที่ร้อยละ 12
ผู้จัดทำโพลล์พบว่า ความพอใจสถานการณ์ของประเทศที่ลดลง เกิดขึ้นชัดเจนในหมู่ผู้ที่นิยมในพรรครีพับลิกัน
ผู้ตอบแบบสอบถามที่สนับสนุนรีพับลิกัน ร้อยละ 20 กล่าวว่าพอใจในสถานการณ์ปัจจุบัน ลดลงจากร้อยละ 39 เมื่อเดือนมิถุนายน และร้อยละ 60 ในเดือนกุมภาพันธ์
ที่น่าสนใจคือการสำรวจความคิดห็นในเดือนกุมภาพันธ์เกิดขึ้นหลังจากที่ วุฒิสภาสหรัฐฯ ลงมติว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่มีความผิดในข้อหายื่นถอดถอนเขาออกจากตำแหน่งผู้นำประเทศ
หากพิจารณาถึงระดับความพอใจต่อสถานการณ์ของประเทศในกลุ่ม ผู้นิยมพรรครีพับลิกัน ตัวเลขร้อยละ 20 ในเดือนที่แล้วถือว่าตำ่สุดตั้งแต่ประธานาธิบดีทรัมป์ดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันจะไม่พอใจต่อสถานการณ์ของประเทศ Gallup พบว่า 91 เปอร์เซ็นต์ของคนกลุ่มนี้ยังยอมรับในผลงานของประธานาธิบดีทรัมป์
ผู้จัดทำโพลล์จึงสรุปว่า ความไม่พอใจสถานการณ์ในประเทศของชาวรีพับลิกัน จึงน่าจะเกี่ยวกับ สิ่งที่เกิดขึ้นในอเมริกา มากกว่า ที่จะชี้ถึงความรู้สึกของพวกเขาต่อความสามารถในการบริหารประเทศของรัฐบาล
และเมื่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ วันที่ 3 พฤศจิกายนใกล้เข้ามา กลุ่มประชากรที่น่าจับตามองคือ ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงอิสระที่ระบุว่าตนไม่ปักใจสนับสนุนรีพับลิกัน หรือเดโมเเครต
ในกลุ่มออกเสียงอิสระนี้ พวกเขาพอใจในสถานการณ์ของประเทศลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 12 จากร้อยละ 18 ในเดือนมิถุนายน และคนกลุ่มนี้ยอมรับในผลงานของทรัมป์ร้อยละ 34 ซึ่งอยู่ในทิศทางขาลงเช่นกัน