ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ยื่นข้อเสนอต่อจีนในการยุติสิ่งที่เรียกว่า “พฤติกรรมก้าวร้าวและบีบบังคับ” ในพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้ แลกกับการถอนการติดตั้งระบบขีปนาวุธพิสัยกลางของสหรัฐฯ ในประเทศ
สหรัฐฯ ติดตั้งระบบขีปนาวุธพิสัยกลางไทฟอน ทางตอนเหนือฟิลิปปินส์ เมื่อเดือนเมษายนปีก่อน เพื่อแสดงการสนับสนุนพันธมิตรอย่างฟิลิปปินส์ในการซ้อมรบร่วมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่จีนออกมาเรียกร้องให้ฟิลิปปินส์ถอนถอนระบบขีปนาวุธชนิดนี้ โดยระบุว่าเป็นการ “ปลุกปั่นการเผชิญหน้าทางภูมิรัฐศาสตร์และการแข่งขันทางอาวุธ”
ประธานาธิบดีเฟอร์ดินาน มาร์กอส จูเนียร์ แห่งฟิลิปปินส์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการที่จีนวิจารณ์การมีอยู่ของระบบขีปนาวุธไทฟอนของสหรัฐฯ ในฟิลิปปินส์ว่า ฟิลิปปินส์ไม่เข้าใจจุดยืนของจีนเนื่องจากทางการกรุงมะนิลาไม่เคยกล่าวถึงระบบขีปนาวุธของจีนซึ่ง “ทรงพลังมากกว่าที่เรามีหลายพันเท่า”
ผู้นำฟิลิปปินส์ เสนอให้ “ทำข้อตกลงกับจีน ให้หยุดอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนของเรา หยุดคุกคามชาวประมงของเรา และปล่อยให้เราดำเนินชีวิตต่อไป หยุดชนเรือของเรา หยุดฉีดน้ำแรงดันสูงใส่ประชาชนของเรา หยุดยิงแสงเลเซอร์ใส่เรา และหยุดพฤติกรรมก้าวร้าวและบีบบังคับของคุณเสีย แล้วเราจะคืนขีปนาวุธไทฟอนไปซะ”
ด้านทางการจีนไม่ได้ให้ความเห็นใด ๆ เกี่ยวกับถ้อยแถลงของผู้นำฟิลิปปินส์ในช่วงเวลาที่จัดทำรายงานฉบับนี้
เมื่อสัปดาห์ก่อน เหมา หนิง โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน กล่าวว่าฟิลิปปินส์สร้างความตึงเครียดในภูมิภาค ในการอนุญาตให้ติดตั้งระบบขีปนาวุธสหรัฐฯ ในดินแดนของตน ซึ่งเป็น “ท่าทีที่อันตรายและขาดความรับผิดชอบอย่างยิ่ง”
ท่าทีของจีนรอบล่าสุด สืบเนื่องจากเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ฟิลิปปินส์ย้ายระบบขีปนาวุธไทฟอนของกองทัพสหรัฐฯ จากตอนเหนือฟิลิปปินส์ไปยังพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ใกล้กับกรุงมะนิลา ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์
เจ้าหน้าที่ของกรุงมะนิลา ที่ไม่เปิดเผยชื่อเนื่องจากไม่มีขอบเขตอำนาจในการหารือประเด็นอ่อนไหวนี้ต่อสาธารณชน กล่าวกับเอพีว่า ระบบขีปนาวุธพิสัยกลางของสหรัฐฯ ชนิดนี้ อยู่ใกล้กับพื้นที่การเผชิญหน้าระหว่างยามชายฝั่งจีนและฟิลิปปินส์ในทะเลจีนใต้
ทั้งนี้ ขีปนาวุธไทฟอน ประกอบด้วยฐานยิง และอาวุธโจมตีจากภาคพื้นดิน Standard Missile-6 และโทมาฮอว์ก รวม 16 ลูก สามารถเดินทางได้ไกลกว่า 1,600 กิโลเมตร ซึ่งเท่ากับเดินทางไปถึงดินแดนบางส่วนของจีนแผ่นดินใหญ่ และทางการฟิลิปปินส์ระบุว่าอาวุธนี้จะคงอยู่กับฟิลิปปินส์ไปตลอด และว่าข้อเรียกร้องของจีนที่ให้ถอนระบบไทฟอนเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศ
ที่ผ่านมา จีนและฟิลิปปินส์ เผชิญหน้ากันทั้งทางทะเลและทางอากาศ ในบริเวณพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้ หลายต่อหลายครั้ง และนอกเหนือจากฟิลิปปินส์แล้ว เวียดนาม มาเลเซีย บรูไน และไต้หวัน เป็นประเทศที่มีประเด็นพิพาทในการอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนในทะเลจีนใต้กับรัฐบาลปักกิ่งด้วยเช่นกัน
ที่มา: เอพี
กระดานความเห็น