ฟิลิปปินส์เดินหน้าจัดซื้อขีปนาวุธแบบร่อน (cruise missile) เพื่อต่อต้านเรือ ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า ท่าทีดังกล่าวเป็นการคานอำนาจกับจีนในประเด็นความขัดแย้งทางทะเล และเป็นการโอนเข้าหาพันธมิตรเก่าแก่อย่างสหรัฐฯ มากขึ้น
เมื่อเดือนมกราคมปีนี้ ฟิลิปปินส์ทำข้อตกลงจัดซื้อขีปนาวุธ BrahMos จากบริษัทกิจการร่วมค้าสัญชาติรัสเซียและอินเดีย หลังจากที่ฟิลิปปินส์ตัดสินใจฟื้นฟูข้อตกลงการเยือนของกองกำลังสหรัฐฯ เมื่อกลางปีที่แล้ว โดยข้อตกลงดังกล่าวอนุญาตให้สหรัฐฯ ขายอาวุธ แบ่งปันข่าวกรอง และให้กองกำลังสหรัฐฯ ใช้ฟิลิปปินส์เป็นพื้นที่ซ้อมรบได้
ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ ในเอเชียตะวันออก แต่เมื่อปีค.ศ. 2016 ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตรเต้ ของฟิลิปปินส์ สานสัมพันธ์กับจีนและวิจารณ์อิทธิพลของสหรัฐฯ ในฟิลิปปินส์ แต่หลังจากนั้น ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ทำให้ท่าทีของผู้นำฟิลิปปินส์อ่อนลงในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา
เมื่อวันที่ 28 มกราคม บริษัท BrahMos Aerospace Private ระบุในแถลงการณ์ว่า ทางบริษัทได้ลงนามในสัญญาจัดซื้อกับกระทรวงกลาโหมของฟิลิปปินส์แล้ว
เมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านั้น สำนักข่าวฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นสื่อทางการ รายงานว่า ข้อตกลงนี้มีมูลค่า 375 ล้านดอลลาร์ เพื่อจัดหาขีปนาวุธแบบร่อนรวมสองชุดให้กองทัพฟิลิปปินส์ใช้ในภารกิจป้องกันชายฝั่ง
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า กองทัพของฟิลิปปินส์อาจใช้ขีปนาวุธดังกล่าวเพื่อรับมือกับกองกำลังชายฝั่งของจีน รวมทั้งเรือจากกองทัพเรือและเรือประมงจีนในทะเลจีนใต้แถบตะวันตกของเกาะลูซอนและทางใต้ของฮ่องกงด้วย
เจย์ บาตองบากัล ศาสตราจารย์ด้านกิจการทะเลระหว่างประเทศ ของมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ที่เมืองเกซอนซิตี้ ระบุว่าในสถานการณ์ความขัดแย้ง ฟิลิปปินส์อาจใช้ขีปนาวุธนี้เพื่อโจมตีเรือทางทะเล และฟิลิปปินส์อาจใช้ขีปนาวุธดังกล่าวเพื่อควบคุมการเดินเรือเข้าและออกจากทะเลจีนใต้ได้
ขีปนาวุธ BrahMos นี้มีระยะยิง 290 กิโลเมตร และถูกออกแบบให้เดินทางได้เร็วกว่าขีปนาวุธร่อนแบบฮาร์พูนของสหรัฐฯ ถึง 3.5 เท่า ข้อมูลจากสถาบัน Stockholm International Peace Research Institute ระบุว่า ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่สองต่อจากอินเดียที่ซื้อขีปนาวุธดังกล่าว
ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้
ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา จีน ซึ่งมีกองทัพที่เข้มแข็งที่สุดในเอเชีย สร้างเกาะจำลองเพื่อประโยชน์ทางการทหารในทะเลจีนใต้ และแล่นเรือผ่านน่านน้ำที่เป็นข้อพิพาท สร้างความตระหนกต่อประเทศคู่พิพาทในทะเลดังกล่าว
เมื่อปีค.ศ. 2016 ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ตัดสินให้ฟิลิปปินส์ชนะคดีต่อจีนในประเด็นการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ แต่จีนไม่ยอมรับคำตัดสินดังกล่าว
ในปีเดียวกัน ผู้นำฟิลิปปินส์ยังประกาศสานสัมพันธ์จีน-ฟิลิปปินส์ เป็นครั้งแรก โดยจีนประกาศจะลงทุนและช่วยเหลือฟิลิปปินส์เป็นเงิน 24,000 ล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา จีนกลับอนุญาตให้เรือของตนเดินเรือใกล้น่านน้ำที่เป็นข้อพิพาท และเมื่อปีค.ศ. 2019 เรือจีนก็จมเรือฟิลิปปินส์ไปหนึ่งลำ
ชาวฟิลิปปินส์จำนวนมากเชื่อว่า จีนยังคงมอบความช่วยเหลือหรือลงทุนในฟิลิปปินส์ไม่มากพอ ในขณะที่นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า สหรัฐฯ ยังคงเป็นพันธมิตรที่มั่นคงที่สุดของฟิลิปปินส์
เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ระบุในแถลงการณ์ว่า สหรัฐฯ ยังคงเป็นพันธมิตรของฟิลิปปินส์ต่อไป หลังเรือยามฝั่งของจีนยิงปืนแรงดันน้ำสูงใส่เรือลำเลียงสัมภาระของฟิลิปปินส์ในทะเลจีนใต้
ความไม่แน่นอนหลังการเลือกตั้ง
ปธน. ดูเตรเต้จะลงจากตำแหน่งในเดือนมิถุนายนหลังหมดวาระดำรงตำแหน่ง โดยนายเฟอร์ดินานด์ “บองบอง” มาร์กอส จูเนียร์ บุตรชายของอดีตผู้นำเผด็จการ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอสและตัวเต็งชิงตำแหน่งผู้นำฟิลิปปินส์คนต่อไป ระบุว่า เขาจะไม่ขอความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ในประเด็นความขัดแย้งทางทะเลกับจีน
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า ชาวฟิลิปปินส์จำนวนมากยังต้องการความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ที่แน่นแฟ้นขึ้น ซึ่งนายมาร์กอสอาจต้องมีท่าทีแข็งกร้าวต่อจีนหรือแสดงท่าทีสนับสนุนสหรัฐฯ มากขึ้น หากได้รับเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม
แอรอน ราบีนา นักวิจัยของมูลนิธิ Asia-Pacific Pathways to Progress Foundation ในกรุงมะนิลา ระบุว่า หากสถานการณ์ในทะเลจีนใต้มั่นคง จีนก็อาจไม่เป็นประเด็นในการเลือกตั้งนัก แต่หากมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นก็อาจช่วยปลุกกระแสชาตินิยมในฟิลิปปินส์ขึ้นมาได้
- รายงานจากผู้สื่อข่าววีโอเอ ราล์ฟ เจนนิงส์ (Ralph Jennings)