องค์กรเสรีภาพสื่อ PEN America ของสหรัฐฯระบุในรายงานชิ้นล่าสุดว่า จีนจำคุกนักเขียนที่พูดถึงเรื่องการระบาดของโคโรนาไวรัสและชนกลุ่มน้อยชาวอุยกูร์ถึง 81 คน ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่มากที่สุดในโลกในปี 2020
ดัชนีเสรีภาพในการเขียน หรือ Freedom to Write Index ขององค์กร PEN America ซึ่งบันทึกการจำคุกของนักเขียนและนักวิชาการทั่วโลก ชี้ว่ายอดการจับคุมได้เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ เนื่องจากการระบาดของโควิด-19
โดยสามประเทศหลักที่มีการลิดรอนการแสดงความคิดเห็นของนักเขียนเป็นอันดับต้นๆ ได้แก่ จีน ซาอุดีอาระเบีย และ ตรุกี สำหรับประเทศไทยนั้น มีการจำคุกนักข่าว 1 คนและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง 2 คน จากเหตุการณ์การประท้วงรัฐบาลและการพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์
ผู้อำนวยการของ PEN America คาริน ด็อยท์ คาร์เลอคา ระบุในรายงานว่า “นักการเมืองทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นมาจากระบอบเผด็จการ หรือ ประชาธิปไตย ต่างก็ใช้การระบาดของโควิดและการประท้วงเป็นข้ออ้างในการละเมิดสิทธิและปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น บางประเทศยังใช้กฏหมายป้องกันข่าวปลอมในการเซ็นเซอร์ความจริงอีกด้วย”
จีนคุมเข้มเรื่องการระบาดของโคโรไวรัส
รายงานชิ้นล่าสุดนี้ให้ความสำคัญกับประเทศจีนและมีการยกตัวอย่างสำคัญๆ เช่น แพทย์ชาวจีน หลี่ เหวินเหลียง ซึ่งเป็นคนเปิดเผยเรื่องเชื้อโคโรนาไวรัสเป็นคนแรกและถูกตำรวจจีนควบคุมตัวข้อหาปล่อยข่าวลือ จากนั้นไม่นานเขาก็ติดโรคโควิดขณะทำการรักษาผู้ป่วยและเสียชีวิตลงในโรงพยาบาลกลางอู่ฮั่น
นอกจากนี้ยังนักข่าวพลเมือง อย่าง จาง จ้าน ก็ถูกศาลจีนจำคุกถึง 4 ปี ข้อหาปลุกปลั่นมวลชนหลังออกสัมภาษณ์ผู้คนในเมืองอู่ฮั่นและรายงานข่าวให้โลกรู้เกี่ยวกับการระบาดของโควิด ส่วน เชน ชิวชื่อ นักข่าวพลเมืองอีกรายที่ตีแผ่สถานการณ์อันเลวร้ายของโคโรนาไวรัสในอู่ฮั่นเช่นกัน ก็หายไปตัวไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เมื่อปีที่แล้ว
ทางด้านวงการวรรณกรรมและการศึกษา นักประพันธ์ อย่าง จาง เหวินฟาง ก็ถูกควบคุมคัวถึง 6 เดือนจากทางการจีน หลังเธอถ่ายทอดบทความออนไลน์เกี่ยวกับโควิด และ อาจารย์มหาวิทยาลัย สู จางเหริน ที่วิจารณ์มาตรการการควบคุมการระบาดของรัฐบาลสี จิน ผิ้งก็ถูกตำรวจจีนควบคุมตัวและโดนไล่ออกจากงาน
การเขียนถึงชนมุสลิมกลุ่มน้อยในเขตปกครองซินเจียง
ทั้งนี้ ครึ่งหนึ่งของนักเขียนที่ถูกจับคุมในจีนนั้นล้วนแสดงความคิดเห็นถึงชนมุสลิมกลุ่มน้อย หรือ ชาวอุยกูร์ที่อาศัยอยู่ในเขตปกครองตนเองซินเจียง ผู้อำนวยการด้านวิชาการของหน่วยงาน Freedom House ซารา คุ้ก แสดงความวิตักกังวลถึงความปลอดภัยของนักเขียนกลุ่มนี้ผ่านวีโอเอ
เธออธิบายว่า ศาสนาและชาติพันธุ์ของนักเขียนนั้นมีผลต่อความเสี่ยงที่จะถูกจับคุมมาก โดยเฉพาะในซินเจียง เพราะสิ่งที่เขียนถึง แม้จะเกี่ยวกับวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมของชาวอุยกูร์ อาจจะไม่มีผลกระทบอะไรในตอนแรก แต่พอรัฐบาลเซ็นเซอร์ข้อมูลเกี่ยวกับชาวอุยกูร์มากขึ้น คนเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ นักเขียน คนแต่งเพลง ก็ถูกจับเข้าค่ายกักกัน โดยเฉพาะในปี 2017
รัฐบาลจีนได้ประกาศว่าค่ายกักกันขนาดใหญ่ในซินเจียงนั้นเป็นถูกก่อตั้งขึ้นมาเพื่อปรับวิสัยทัศน์ของกลุ่มคนหัวรุนแรงและไม่ใช่คุก เพราะฉะนั้นทางการจีนจึงไม่มีความผิดใดๆ และไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชน
ซารา คุ้ก บอกกับวีโอเอเพิ่มว่า นอกจากความเสี่ยงในการถูกจับคุมแล้ว นักเขียนเหล่านี้ยังต้องเสี่ยงกับความกดดันทางด้านการเงินและงานด้วย เพราะเจ้าหน้าที่จีนอาจทำการระงับช่องทางการสื่อสารที่ทำเงินให้คนเหล่านี้ เช่น แอปพลิเคชั่น วีแชท หรือ เวยโป๋ว“นักเขียนเหล่าที่ถูกปิดกั้นการใช้ช่องทางการแสดงความเห็นต่างๆ ในจีนจึงหันไปพึ่งช่องทางอื่นหรือสื่อนอกประเทศจีน เพราะเหตุนี้เองรัฐบาลจึงมองว่าคนกลุ่มนี้เป็นตัวปัญหาและต้องการโจมตีภาพลักษณ์ของประเทศ”
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนได้ปฏิเสธกระแสการวิจารณ์เรื่องเสรีภาพสื่อในประเทศตนเองจากองค์กรต่างๆ ของสหรัฐฯ ทั้งยังตอบโต้สหรัฐฯ กลับว่าใช้สองมาตรฐาน เนื่องจากอเมริกามีการจับคุมผู้ประท้วงหลายพันคนที่ออกมาเรียกร้องความเสมอภาคและการใช้ความรุนแรงกับคนผิวสีอย่างในกรณีของจอร์จ ฟลอยด์ ชาวแอฟริกันอเมริกันที่ถูกตำรวจใช้กำลังจับกุมเกินกว่าเหตุจนเสียชีวิตเมื่อปีที่เเล้ว