ตัวนิ่มเป็นสัตว์จำพวกเลี้ยงลูกด้วยนมที่มีเกล็ดทั่วทั้งตัว กินมดและปลวกเป็นอาหาร ตัวนิ่มถูกล่าเพื่อกินเนื้อ ใช้เกล็ดและอวัยวะทำยาแผนโบราณและยังใช้ในอุตสาหกรรมแฟชั่นอีกด้วย
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าตัวนิ่มเป็นที่ต้องการมากกว่างาช้าง และเช่นเดียวกับงาช้าง ประเทศจีนเป็นตลาดรายใหญ่ที่สุดสำหรับการลักลอบค้าขายอวัยวะของตัวนิ่ม
Jörn Scharlemann ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์แห่งมหาวิทยาลัย Sussex เป็นผู้ร่วมร่างรายงานผลการศึกษานี้ เขากล่าวว่าตัวนิ่มกำลังเสี่ยงมากต่อการสูญพันธุ์และอยู่ในสภาพใกล้จะสูญพันธุ์ในเอเชีย
ทีมนักวิจัยต้องการศึกษาว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับตัวนิ่มในแอฟริกา แม้ว่าจะมีการศึกษาปัญหาการลดลงของตัวนิ่มในแอฟริกากันมากมาย แต่ไม่มีการศึกษาใดที่นำข้อมูลมาปะติดปะต่อกันเป็นภาพรวมของปัญหาทั้งหมด ทีมนักวิจัยจึงได้วิเคราะห์ผลการศึกษาที่มีอยู่เเล้ว 70 ชิ้นเกี่ยวกับการล่าตัวนิ่มและข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับตัวนิ่มมาประกอบ
เขากล่าวว่าความต้องการตัวนิ่มเพิ่มขึ้นอย่างมาก และมีจำนวนคนที่ล่าตัวนิ่มเพิ่มขึ้น 150 เปอร์เซ็นต์ในป่าแอฟริกากลาง พื้นที่ป่าเหล่านี้คลุมหลายประเทศ ตั้งเเต่แคเมอรูน สาธารณรัฐแอฟริกากลาง กาบอง สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
ประมาณว่าจำนวนตัวนิ่มที่ถูกล่าต่อปีในพื้นที่ป่าเหล่านี้อยู่ที่ 400,000 จนถึง 2 ล้าน 7 เเสนตัว เเต่เนื่องจากไม่มีตัวเลขเกี่ยวกับจำนวนประชากรตัวนิ่มทั้งหมดที่เเน่ชัด จึงไม่มีทางรู้ได้ว่ามีประชากรตัวนิ่มเหลืออยู่มากน้อยเท่าใด
แต่ Scharlemann นักวิชาการด้านการอนุรักษ์ในอังกฤษ กล่าวว่า โอกาสอยู่รอดของตัวนิ่มในแอฟริกากลางมีน้อย
เขากล่าวว่าทีมนักวิจัยได้ข้อมูลจากผลการศึกษาหลายชิ้นที่ระบุกลุ่มอายุของตัวนิ่มที่ถูกล่า พบว่าราว 45 เปอร์เซ็นต์หรือเกือบครึ่งหนึ่งเป็นตัวนิ่มอายุน้อยหรือกำลังเข้าสู่ระยะโตเต็มวัย และยังไม่มีโอกาสได้ขยายพันธุ์หรือออกลูก ดังนั้น การล่าตัวนิ่มแบบนี้ถือว่าไม่ยั่งยืน และส่งผลกระทบต่อจำนวนประชากรของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดนี้อย่างเเน่นอน
ตัวนิ่มถูกล่าด้วยบ่วงดัก กับดักและปืน ตัวนิ่มมักเสียชีวิตก่อนที่พรานล่าจะไปถึงบ่วงดักหรือกรงดัก ทำให้สายเกินไปที่จะปล่อยตัวนิ่มที่อายุน้อยที่ติดในกักดักหรือบ่วงดัก
อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์หรือไซเตส (The Convention on International Trade of Endangered Species, or CITES)ได้สั่งห้ามอย่างเด็ดขาดไม่ให้มีการค้าขายตัวนิ่มในระดับนานาชาติ เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว
ผู้เชี่ยวชาญการอนุรักษ์ในอังกฤษ กล่าวว่า ตามกฏหมายเเล้วไม่ควรมีการค้าขายตัวนิ่มในระดับนานาชาติอีกต่อไป เเต่การบังคับใช้กฏหมายระดับนานาชาติมักใช้เวลากว่าจะมีการนำไปบังคับใช้ในพื้นที่ที่มีการล่า ทางการในประเทศเหล่านี้ต้องบังคับใช้กฏหมายท้องถิ่นที่มีอยู่ในมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เขากล่าวว่ามีกฏหมายบางฉบับในหลายประเทศแอฟริกากลางที่ห้ามล่าตัวนิ่มด้วยบ่วงดัก แต่ทีมนักวิจัยพบว่าราว 50 เปอร์เซ็นต์ของตัวนิ่มที่ถูกล่า ถูกล่าด้วยกับดักหรือบ่วงดัก ดังนั้น จะเห็นว่าไม่มีการบังคับใช้กฏหมายท้องถิ่น
การศึกษาที่ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัย Sussex เป็นผู้นำในการวิจัยชิ้นนี้ ตีพิมพ์ในวารสาร Conservation Letters และเป็นความพยายามร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยหลายแห่ง หน่วยงานอนุรักษ์หลายหน่วยงาน ตลอดจนกระทรวงต่างๆ โดยเจ้าหน้าที่ภาคสนามหลายคนเสี่ยงชีวิตในการจัดเก็บข้อมูล และต้องใช้ชีวิตหลายเดือนในป่าหลายเเห่ง
(รายงานโดย Joe De Capua / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว)