ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ย้อนดูบรรยากาศการทูต กับการอยู่หรือไปของ ‘หมีแพนด้า’


แพนด้า เทียน เทียน ในสวนสัตว์กรุงวอชิงตัน (ที่มา: รอยเตอร์/แฟ้มภาพ)
แพนด้า เทียน เทียน ในสวนสัตว์กรุงวอชิงตัน (ที่มา: รอยเตอร์/แฟ้มภาพ)

ย้อนดูเหตุการณ์ที่มีผลต่อการมีอยู่ของแพนด้าในไต้หวัน มาเลเซีย และไทย หลังสหรัฐฯ ส่ง 3 แพนด้ากลับจีนท่ามกลางความบรรยากาศความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่อึมครึม

สามแพนด้ายักษ์ เหมย เซียง เทียน เทียน และเสี่ยว ฉี จี้ ที่เป็นขวัญใจผู้เยี่ยมชมสวนสัตว์กรุงวอชิงตันมาตั้งแต่ปี 2000 เพิ่งถูกส่งกลับไปยังประเทศบ้านเกิดในวันพุธที่ผ่านมานี้ หลังหมดสัญญายืมตัวจากรัฐบาลจีน

การเดินทางกลับบ้านของสามแพนด้า จะทำให้สหรัฐฯ เหลือแพนด้าเพียงตัวเดียว อยู่ที่สวนสัตว์นครแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ที่มีกำหนดส่งตัวคืนในปีหน้า และหากไม่มีการต่อสัญญา

การกลับบ้านของแพนด้าในสหรัฐฯ เกิดขึ้นในช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ถดถอยลงทั้งในด้านการค้า สิทธิมนุษยชน และท่าทีที่แตกต่างในประเด็นสถานะของไต้หวัน

แล้วเจ้าหมีลายขาวดำเกี่ยวข้องกับบรรยากาศทางการทูตหรือไม่ วีโอเอไทยรวบรวมเรื่องราวของเจ้าหมีขาวดำที่เกี่ยวกับบรรยากาศความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อมมานำเสนอ

ไต้หวัน

โดยทั่วไป การส่งแพนด้าจากจีนไปยังต่างประเทศ จะเป็นไปในลักษณะการให้ยืมและส่งคืนกลับจีนเมื่อครบกำหนดสัญญา แต่ในกรณีของไต้หวัน ซึ่งจีนมีแนวนโยบายว่าเป็นดินแดนของตนเองมาตลอด แต่เงื่อนไขดังกล่าวได้รับการยกเว้นในกรณีของไต้หวัน

ในช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและไต้หวันลดความคุกรุ่นลงเมื่อคริสต์ทศวรรษที่ 2000 มีความพยายามจากจีนที่จะเชื่อมไมตรีกับไต้หวันด้วยหลายวิธี หนึ่งในนั้นคือการจะส่งมอบแพนด้าให้จำนวนสองตัวที่ชื่อ “ถวนถวน” และ “หยวนหยวน” ซึ่งหากอ่านร่วมกันจะมีความหมายว่า ‘รวมตัวกัน’ หรือในภาษาอังกฤษคือ reunion หรือ unity

และการมอบแพนด้าครั้งดังกล่าว ไม่ใช่การให้ยืม แต่เป็นการให้สิทธิการเป็นเจ้าของแก่ไต้หวัน ทั้งต่อแพนด้าทั้งสองและลูกหลานที่จะกำเนิดหลังจากนั้นด้วยด้วย จากการรายงานของเอเอฟพี

รอยเตอร์รายงานว่า ดำริในการให้แพนด้าจำนวนสองตัวกับไต้หวันนั้นเกิดขึ้นเมื่อปี 2006 แต่ผู้นำรัฐบาลไทเปที่มีจุดยืนต่อต้านจีนก็ปฏิเสธไม่ยอมรับแพนด้าถึงสองครั้ง แต่ต่อมาในปี 2008 ไต้หวันตัดสินใจรับแพนด้าสองตัวดังกล่าว

ถวนถวนตายเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022 เมื่อมีอายุได้ 18 ปี ปัจจุบันไต้หวันยังมีแพนด้าอยู่อีกสามตัว ได้แก่หยวนหยวนและลูกของเธออีกสองตัวที่เกิดกับถวนถวน

มาเลเซีย

เอพีรายงานว่า เมื่อปี 2014 จีนมีข้อตกลงกับมาเลเซียในการให้ยืมตัวแพนด้าชื่อ ‘ซิงซิง’ และ ‘เหลียงเหลียง’ เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบมิตรภาพ 40 ปี ระหว่างจีนและมาเลเซีย

อย่างไรก็ตาม การส่งมอบถูกเลื่อนไปเป็นเวลา 1 เดือน หลังเกิดเหตุเครื่องบินของสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ หมายเลข MH370 สูญหายระหว่างเส้นทางบินกัวลาลัมเปอร์-ปักกิ่ง ในวันที่ 8 มีนาคม โดยบนเครื่องบินลำดังกล่าวมีผู้โดยสารส่วนมากเป็นชาวจีน

สื่อ The Wall Street Journal รายงานว่า การเลื่อนเกิดขึ้นเพื่อแสดงความเคารพต่อความรู้สึกของสมาชิกครอบครัวของผู้โดยสารบนเครื่องบินลำดังกล่าว

ไทย

ความเป็นอยู่ของแพนด้าในต่างประเทศเองก็มีผลต่อกระแสสังคมได้เช่นกัน กรณีของไทย เกิดขึ้นเมื่อเดือน 18 เมษายน 2566 เมื่อมีชาวต่างชาติถ่ายวิดีโอ ‘หลินฮุ่ย’ แพนด้าเพศเมียในสวนสัตว์เชียงใหม่ ขณะมีเลือดกำเดาไหลและกลับดาวแพนด้าในวันถัดมา จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการดูแล

ต่อมา สวนสัตว์เชียงใหม่ออกแถลงการณ์ว่าหลินฮุ่ยขณะที่เลือดกำเดาไหลนั้นยังคงมีชีวิตอยู่ ยืนยันว่าสวนสัตว์ได้เลี้ยงดูหลินฮุ่ยตามมาตรฐาน และทั้งฝ่ายไทยและจีนก็ให้การรักษาอย่างเต็มความสามารถ

การจากไปของหลินฮุ่ยทำให้ไทยไม่มีแพนด้าอยู่ในประเทศอีกต่อไป หลังช่วงช่วง คู่แพนด้าตัวผู้ที่ถูกส่งมาร่วมกันตั้งแต่ปี 2546 เสียชีวิตในปี 2562 ขณะมีอายุ 19 ปี และหลินปิง ลูกของทั้งสอง ถูกส่งตัวกลับไปจีนเมื่ออายุ 4 ปี ตามที่กำหนดไว้ในสัญญา

รายงานจากสำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 เผยแพร่ข้อสังเกตของอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ ที่ระบุว่า ถ้อยแถลงของจีน อาจตีความได้ว่ามีโอกาสที่การเจรจาเรื่องการมอบแพนด้าตัวใหม่อาจเกิดขึ้น หลังผลชันสูตรศพหลินฮุ่ยพบว่าไทยได้ดูแลหลินฮุ่ยเกินกว่าที่มาตรฐานกำหนด

การทูตแพนด้า: ความน่ารักที่ถูกขยายปม

พงศ์พิสุทธิ์ วงศ์วีรสิน นักศึกษาปริญญาเอกด้านความสัมพันธ์จีน สหรัฐฯ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จาก School Advanced International Studies, มหาวิทยาลัย Johns Hopkins University (SAIS) ให้ข้อมูลกับวีโอเอไทยว่าจีนใช้หมีแพนด้า ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีถิ่นกำเนิดในจีน เป็นทูตสันถวไมตรีมายาวนานตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง (ราวศตวรรษที่ 7) และค่อย ๆ เปลี่ยนรูปแบบจากการให้มาเป็นการให้ยืม

พงศ์พิสุทธิ์มองว่า การทูตแพนด้าส่งเสริมให้คนต่างชาตินิยมชมชอบเกี่ยวประเทศจีน พัฒนาความร่วมมือด้านการอนุรักษ์และเพาะพันธุ์แพนด้ากับนานาชาติ และในทางอ้อม ยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับสวนสัตว์ที่เจ้าหมีแพนด้าไปอาศัยอยู่ด้วย

“อย่างภาพยนต์บาร์บี้ ถ้าเราจำได้จะมีฉากที่มีเส้นประ 9 จุดในทะเลจีนใต้ ก็เป็นเรื่องเป็นราว สื่อในลักษณะนั้น โดยเปรียบเทียบแล้ว (แพนด้า) จึงมีความแยบยลกว่ามากในแง่การทูตต่อสาธารณชนของประเทศอื่นในการทำให้คนรัก ในการดึงดูดผู้คน และช่วยลดช่องว่างในการซื้อใจคนต่างประเทศโดยที่สารไม่ต้องออกมาจากรัฐบาลจีนโดยตรง”

“เนื่องจากเป็นสิ่งมีชีวิต จึงเกิดความผูกพันกับคนได้ง่าย และความนิยมจีนก็กระจายไปถึงชุมชนที่ได้ประโยชน์รอบสวนสัตว์ อย่างตอนที่ช่วงช่วงกับหลินฮุ่ยมาที่ไทยเมื่อปี 2546 ก็เกิดแพนด้าฟีเวอร์ในไทย มีคนเคยทำรายงานเศรษฐกิจว่ามีร้านขายของที่ระลึก หรือร้านต่าง ๆ มีเงินเศรษฐกิจหมุนเวียนถึง 200 ล้านบาทเพราะมันทำให้การท่องเที่ยวบูมขึ้น”

อีกหนึ่งประเด็นที่นักศึกษาด้านการต่างประเทศของจีน-สหรัฐฯ มองเห็นในกรณีของแพนด้าคือการทูตในระดับประชาชน ที่การอยู่หรือไปของแพนด้า สร้างกระแสหวาดระแวงระหว่างชาวอเมริกันและชาวจีน และความสัมพันธ์ที่ไม่ดีระหว่างประชาชน ก็อาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐในระยะยาว

“การส่งกลับครั้งนี้ (ของ 3 แพนด้าในสหรัฐฯ) กระแสในจีนก็มีกระแสแสดงความยินดีในโซเชียลมีเดีย เช่นเว่ยโป๋ ก็มี 40-50 ล้านคนที่ยินดีมากและหลายคนก็รู้สึกว่าต่างประเทศ อย่างไรก็ดูแลหมีแพนด้าได้ไม่ดีเท่าเฉิงตูของจีน”

“การทูตหมีแพนด้าในช่วงนี้สะท้อนกระแสความคิดหวาดระแวง หรือการกลัวการโดนเอารัดเอาเปรียบกันระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในระดับประชาชน ซึ่งความสัมพันธ์ระดับประชาชน ย่อมส่งผลต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศในระยะยาว ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้นำหรือรัฐบาลทั้งสองประเทศที่จะต้องพยายามส่งสัญญาณเชิงบวก”

พงศ์พิสุทธิ์ทิ้งท้ายว่า อยากให้ประชาชนดูเจตนารมย์ดั้งเดิมของการใช้สัตว์เป็นทูตสันถวไมตรี ซึ่งเป็นผู้แทนส่งเสริมความนิยมชมชอบและความเข้าใจระหว่างกัน ลดความหวาดระแวง ส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจของทั้งสองฝ่ายให้มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็สนใจพัฒนาการด้านการระหว่างประเทศเชิงบวกด้ว

  • ที่มา: รอยเตอร์, เอพี, เอเอฟพี, The Wall Street Journal

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG