หลังการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกครั้งที่ 21 ที่กรุงปารีส หรือ Conference of Parties 21 (COP21) ในวันแรกผ่านไปพร้อมคำมั่นที่แข็งขันของผู้นำชาติต่างๆ ที่จะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนด้วยการจัดทำข้อตกลงลดปริมาณก๊าซคาร์บอนให้ได้
ในการประชุมวันที่ 2 ที่ประชุมมุ่งเน้นหารือเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในอาฟริกา
เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่ระดับน้ำในทะเลสาบช้าดในแอฟริกาลดลงอยู่ที่ระดับที่น่าเป็นห่วง คือจากระดับความลึกราว 5 เมตร เหลือเพียง 1- 1.5 เมตรในปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของปัญหาสิ่งแวดล้อมในแอฟริกา ประกอบกับปัญหากลุ่มก่อการร้าย Boko Haram ที่ขยายวงกว้าง และยึดพื้นที่รอบๆทะเลสาบแห่งนี้เอาไว้
ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกครั้งที่ 21 หรือ COP21 ที่กรุงปารีสในวันที่สอง ปธน.ฝรั่งเศส ฟรังก์ซัวร์ โอล็องก์ กล่าวว่าจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณริมฝั่งทะเลสาบช้าด ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมและผู้ก่อการ้าย
ด้านคุณ Nkosazana Dlamini-Zuma ประธานสหภาพแอฟริกา กล่าวว่าการประชุม COP21 ครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อมนุษยชาติ เนื่องจากทุกคนบนโลกต่างได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ไม่ว่าประเทศร่ำรวยหรือยากจน เล็กหรือใหญ่ และไม่ว่าจะอยู่จุดไหนบนโลก
และว่าพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกมากที่สุด คือทะเลทรายซาฮาร่าและทะเลสาบช้าดในแอฟริกา
(ผู้สื่อข่าว Luis Ramirez รายงานจากกรุงปารีส / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)