ลิ้งค์เชื่อมต่อ

‘แสงศิวิไลซ์-มลภาวะทางแสง’ ฆ่านกอพยพปีละนับพันล้านตัว


แฟ้มภาพ - ฝูงนกบินผ่านคนขี่จักรยานคนหนึ่งในชิคาโก เมื่อ 1 ก.พ. 2556
แฟ้มภาพ - ฝูงนกบินผ่านคนขี่จักรยานคนหนึ่งในชิคาโก เมื่อ 1 ก.พ. 2556

ผลการศึกษาที่เพิ่งได้รับการเปิดออกมาเมื่อไม่นานมานี้ระบุว่า มีนกในธรรมชาติที่บินพุ่งเข้ากระแทกหน้าต่างอาคารบ้านเรือนจนตายในสหรัฐฯ ปีละกว่าพันล้านตัว โดยสาเหตุหลัก ๆ คือ แสงไฟที่มนุษย์พัฒนาขึ้นมาใช้งาน ตามรายงานของสำนักข่าวเอพี

การศึกษาดังกล่าวเป็นความร่วมมือของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฟอร์ทัม (Fordham University) กลุ่ม NYC Bird Alliance รวมทั้ง the American Bird Conservancy และมหาวิทยาลัยสโตนีบรู๊ค (Stony Brook University) ในมหานครนิวยอร์ก

แต่ คอนนี ซานเชซ ผู้จัดการโครงการอาคารเป็นมิตรต่อนกของ National Audubon Society เชื่อว่า ตัวเลขที่แท้จริงนั้นน่าจะสูงกว่านี้ เพราะว่านกที่บินพุ่งมากระแทกหน้าต่างและไม่ตาย แต่บาดเจ็บและบินออกไปตายที่อื่นน่าจะมีอยู่ไม่น้อย

ซานเชซ กล่าวด้วยว่า เหตุการณ์ดังกล่าวมีสาเหตุสำคัญมาจาก “มลภาวะทางแสง” หรือการใช้แสงไฟประดิษฐ์ของมนุษย์ที่ติดตั้งอยู่ตามถนน อาคาร หรือแม้แต่ระเบียงบ้าน พร้อมระบุว่า “นกถูกดึงดูดเข้าหาแสง และแสงไฟประดิษฐ์ก็ทำให้นกอพยพบินออกนอกเส้นทางและสับสนเมื่อบินมาใกล้ไฟที่ว่า จนกระทั่งชนเข้ากับตัวอาคารและหน้าต่าง ... หรือไม่ก็อาจหลงบินวนไม่รู้ทิศ และต้องส่งเสียงร้องเรียกออกมา จนหมดแรงลงมาอยู่บนพื้น”

แฟ้มภาพ - นกนางนวลเกาะอยู่บนยอดเสาไฟที่ท่าเรือ Inner Harbor ในนครบัลติมอร์ รัฐแมรีแลนด์ เมื่อ 16 มิ.ย. 2553
แฟ้มภาพ - นกนางนวลเกาะอยู่บนยอดเสาไฟที่ท่าเรือ Inner Harbor ในนครบัลติมอร์ รัฐแมรีแลนด์ เมื่อ 16 มิ.ย. 2553

เธอบอกด้วยว่า เหตุการณ์นกบินชนหน้าต่างนั้นเพิ่มขึ้นอย่างมากในฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วงซึ่งเป็นช่วงที่นกอพยพ โดยนกนั้นพึ่งสัญญาณจากท้องฟ้าซึ่งก็คือ ดวงจันทร์และดวงดาว ที่นำทางให้ในช่วงฟ้ามืด

สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่า ผลการวิจัยพบว่า 56% ของเหตุนกบินชนอาคารบ้านเรือนเกิดขึ้นกับโครงสร้างที่มีความสูงเพียง 1 หรือ 2 ชั้น และ 44% เกิดกับอาคารบ้านเรือน ขณะที่ สถิติที่เกิดขึ้นกับอาคารทรงสูงนั้นมีเพียงไม่ถึง 1%

ซานเชซบอกว่า ส่วนใหญ่ของกรณีนกบินชนตึกนั้นเกิดกับ “บ้าน โรงเรียนและสำนักงานธุรกิจที่อยู่นอกพื้นที่ใจกลางเมือง” พร้อมระบุว่า เจ้าของบ้านและผู้เช่าบ้านทั้งหลายสามารถช่วยกันป้องกันเหตุการณ์ที่ว่าได้

ข้อมูลจากโครงการ Lights Out ของ National Audubon Society เรียกร้องให้ผู้คน ธุรกิจและผู้จัดการและเจ้าของอาคารทั้งหลาย “ปิดไฟที่ไม่จำเป็นต้องใช้ในระหว่างเดือนที่นกอพยพกำลังทำการบินอยู่ ... เพื่อเปิดเส้นทางที่ปลอดภัย(ให้ฝูงนก)บินระหว่างพื้นที่ทำรังและพื้นที่ที่เหล่านกใช้ชีวิตในช่วงฤดูหนาว”

แฟ้มภาพ - ฝูงนกบินบนท้องฟ้าในช่วงพระอาทิตย์ขึ้นผ่านอาคาร One World Tower ในนครนิวยอร์ก เมื่อ 11 ธ.ค. 2558
แฟ้มภาพ - ฝูงนกบินบนท้องฟ้าในช่วงพระอาทิตย์ขึ้นผ่านอาคาร One World Tower ในนครนิวยอร์ก เมื่อ 11 ธ.ค. 2558

ในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ เช่น รัฐนิวยอร์ก ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ประชาชนปิดไฟตามสนามหญ้าและระเบียงในช่วงค่ำ ระหว่างกลางเดือนสิงหาคมและกลางเดือนพฤศจิกายน หรืออย่างน้อย ตลอดเดือนตุลาคมซึ่งเป็นช่วงที่นกทำการอพยพมากที่สุดสำหรับฤดูใบไม้ร่วง และหากการปิดไฟนั้นเป็นเรื่องยาก อย่างน้อยก็ให้หันไฟสนามลงพื้น หรือติดตั้งระบบตั้งเวลาและตัวเซนเซอร์ รวมทั้งจำกัดเวลาที่เปิดไฟให้สั้นลง

ขณะเดียวกัน การศึกษานี้เปิดเผยด้วยว่า ไฟที่อยู่ภายในอาคารบ้านเรือนและส่องสว่างออกมาทางหน้าต่างก็อาจเป็นภัยสำหรับนกอพยพด้วย ซานเชสจึงแนะนำให้ปิดม่านมูลี่ในช่วงกลางคืน และดับไฟดวงที่ไม่จำเป็นเสีย รวมทั้ง หาวัสดุต่าง ๆ หรือฉากกั้นมาตกแต่งที่กระจกหน้าต่างเพื่อลบเงาสะท้อนที่ทำให้นกหลงทางเพราะเข้าใจว่า ท้องฟ้าที่เห็นบนกระจกคือ ท้องฟ้าของจริง เป็นต้น

  • ที่มา: เอพี

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG