ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักรณรงค์เร่งเร้าผู้นำไทย-กัมพูชา หารือปมปัญหาขณะ 'เศรษฐา' เยือนพนมเปญ


นายกรัฐมนตรีไทย เศรษฐา ทวีสิน
นายกรัฐมนตรีไทย เศรษฐา ทวีสิน

บรรดานักรณรงค์ทางสังคมและผู้สังเกตการณ์การเมือง เร่งเร้าให้ผู้นำไทยและกัมพูชา ร่วมหารือประเด็นปัญหาที่ทั้งสองประเทศกำลังเผชิญอยู่ ในช่วงที่นายกรัฐมนตรีไทย เศรษฐา ทวีสิน เดินทางเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการครั้งแรกในวันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายนนี้

เอม โสวัณรา ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ กล่าวกับวีโอเอว่า การหารือครั้งนี้คือการแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แข็งแรงของพรรคประชาชนกัมพูชา หรือ CPP (Cambodian People's Party) ที่มีฮุน เซน เป็นประธานพรรค กับพรรคเพื่อไทยที่ก่อตั้งโดยอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร

"พรรค CPP มีความสัมพันธ์ที่ดีกับพรรคเพื่อไทยมายาวนานตั้งแต่สมัยทักษิณเป็นนายกฯ ดังนั้นเชื่อว่านายกฯ เศรษฐาก็จะได้รับต้อนรับอย่างอบอุ่นเช่นกัน และไม่น่าจะมีแง่ลบออกจากจากการหารือทวิภาคีครั้งนี้" ศาสตราจารย์เอมกล่าว

นักวิชาการผู้นี้เสริมว่า ทั้งสองประเทศจำเป็นต้องยึดมั่นตามหลักเกณฑ์ของสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศในประเด็นต่าง ๆ เช่น สิทธิมนุษยชน ตลอดจนประเด็นที่เกี่ยวกับนักรณรงค์ทางการเมืองและประชาธิปไตย ซึ่งจำเป็นต้องยอมรับผู้ลี้ภัยและไม่ส่งตัวกลับไปยังอีกประเทศหนึ่งเหมือนที่ไทยกับกัมพูชาปฏิบัติมาตลอด รวมถึงการติดตามคดีที่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวไทย วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หายตัวไปในกัมพูชาเมื่อสามปีก่อนด้วย

ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียขององค์กรสิทธิมนุษยชน ฮิวแมน ไรท์ส วอทช์ (Human Rights Watch) กล่าวว่า รัฐบาลไทยชุดที่แล้วสนับสนุนการส่งตัวผู้ลี้ภัยกัมพูชากลับประเทศ เพื่อแลกกับผลประโยชน์หลายอย่างจากทางรัฐบาลกัมพูชา

"นักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวกัมพูชาต่างเชื่อว่าจะปลอดภัยจากเงื้อมมือของฮุน เซนและพรรคพวก เมื่อไปถึงไทย แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะทุกเดือนจะมีกรณีที่ผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชาในประเทศไทยถูกติดตามตรวจสอบ ถูกละเมิดหรือถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ของทางการไทยและกัมพูชา และบางคนถูกส่งตัวกลับไปกัมพูช่เพื่อเผชิญข้อหาและถูกจับกุมคุมขัง" โรเบิร์ตสันกล่าวกับวีโอเอภาคภาษาเขมร

ภาพของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวไทย วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้หายตัวไปในกัมพูชาเมื่อสามปีก่อน
ภาพของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวไทย วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้หายตัวไปในกัมพูชาเมื่อสามปีก่อน

นอกจากประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนและผู้ลี้ภัยแล้ว ผู้สังเกตการณ์การเมืองยังระบุถึงปัญหาตามแนวพรมแดนไทย-กัมพูชา รวมทั้งอาชญากรรมข้ามชาติและการลักพาตัว ซึ่งล้วนต้องอาศัยความร่วมมือของรัฐบาลทั้งสองฝ่ายในการแก้ไขปัญหา

ทั้งนี้ แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาระบุว่า นายกฯ เศรษฐา จะประชุมกับนายกฯ ฮุน มาเนต และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกัมพูชา เกี่ยวกับความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ร่วมกันของสองประเทศ นอกจากนี้ยังจะหารือกันในประเด็นปัญหาที่ภูมิภาคอาเซียนกำลังเผชิญอยู่

  • ที่มา: วีโอเอ ภาคภาษาเขมร

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG